แพทยศาสตร์ ม.พะเยา มุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์และนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แห่งล้านนาตะวันออก

7/2/2568 16:43:35น. 490
เรียนต่อคณะแพทยศาสตร์


คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เริ่มดำเนินการเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 18 ของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาทั้งหมด 28 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันของรัฐบาล 24 แห่ง และสถาบันเอกชน 4 แห่ง และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการรับรองโดยแพทยสภา ทำให้ที่นี่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับน้องๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นแพทย์และทำงานอุทิศตนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน วันนี้เราได้พูดคุยกับ ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ที่จะมาให้ข้อมูลสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนตัดสินใจเรียนแพทย์ กันค่ะ



หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (6 ปี) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
          คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 3 ในภาคเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่ได้รับการรับรองโดยแพทยสภา มีเป้าหมายคือ การผลิตแพทย์เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน แม้ว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ของแต่ละสถาบันจะอยู่ภายใต้ข้อบังคับของแพทยสภาและมาตรฐานสากล ทำให้มีโครงสร้างหลักไม่แตกต่างกันมาก แต่อาจมีจุดเน้นที่ต่างกันไป เช่น การวิจัย เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือการพัฒนาแพทย์เฉพาะทาง สำหรับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตแพทย์ตามโครงการ “ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บัณฑิตสามารถตอบสนองความต้องการทางสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เปิดทำการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการและปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างมืออาชีพ หลักสูตรนี้ได้รับการปรับปรุงล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาและความต้องการของสังคมปัจจุบัน

 



 

ความโดดเด่นของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
          คือสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ รายล้อมด้วยธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้และช่วยให้นิสิตสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ระบบการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้เกิดการฝึกปฏิบัติจริง ผ่านโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาและโรงพยาบาลเครือข่ายของรัฐ เพื่อให้นิสิตได้สัมผัสกับการทำงานจริงตั้งแต่ชั้นคลินิก อีกทั้งยังสนับสนุนให้นิสิตมีโอกาสพัฒนาตนเองและเรียนรู้ระบบสาธารณสุขของไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นจุดแข็งสำคัญของคณะ แต่การพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตร และศักยภาพของบุคลากรก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป
           หลักสูตรของคณะมีการปรับปรุงล่าสุดในปี 2565 โดยมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการระหว่างวิชาพื้นฐานและคลินิก อาจารย์แพทย์มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กับการปฏิบัติจริง ทำให้หลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากหลายสถาบัน ซึ่งหลายแห่งก็เริ่มมีแนวโน้มในการปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นแบบบูรณาการในลักษณะเดียวกัน
           อีกหนึ่งแนวทางที่คณะให้ความสำคัญคือการใช้แนวคิดการเรียนการสอนแบบ Competency-Based Education (CBE) ซึ่งเน้นพัฒนาทักษะและความสามารถของนิสิตให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตลอดจนมีระบบติดตามบัณฑิตเพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต โดยผลตอบรับจากสถานพยาบาลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตของคณะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่แตกต่างจากบัณฑิตจากสถาบันอื่น
           สิ่งที่ทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ อัตลักษณ์ของนิสิตและบัณฑิตที่สะท้อนถึงคุณค่าของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการมีจิตสาธารณะ ความเสียสละ และจิตอาสา ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่มุ่งผลิตแพทย์เพื่อชุมชนและการพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทอย่างแท้จริง

 

 



อาจารย์มีความรู้และประสบการณ์ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
          อาจารย์แพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญ โดยเฉพาะในชั้นปลีคลินิกที่มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ดูแลการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากคณะอื่นๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งช่วยเสริมศักยภาพในการเรียนการสอนให้ครอบคลุมทุกมิติทางการแพทย์

 

 




การสมัครเข้าศึกษา
          คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีระบบรับนิสิตแพทย์หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตผ่าน 2 ช่องทางหลัก ช่องทางแรกคือการรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นแนวทางที่คล้ายกับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ในประเทศไทย ส่วนช่องทางที่สองคือการรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีลาเรียน (Strengthening Track) ซึ่งมีเพียงไม่กี่สถาบันที่เปิดรับ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถือเป็นหนึ่งในสถาบันที่รับนิสิตในระบบนี้มากที่สุด
          โดยในปัจจุบัน คณะมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีลาเรียน (Strengthening Track) จำนวน 20 คนต่อปี และในปีถัดไปจะเพิ่มเป็น 30 คน ขณะที่การรับนิสิตจากระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะอยู่ที่ 38 คนต่อปี ส่งผลให้จำนวนที่รับทั้งหมดในปีถัดไปจะอยู่ที่ 68 คน ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประเทศเมื่อเทียบกับสถาบันอื่นๆ การเปิดรับ Strengthening Track เป็นการเปิดโอกาสให้กับบุคคลที่เคยมีความฝันอยากเป็นแพทย์แต่ไม่ได้มีโอกาสเรียนตั้งแต่แรก หรือบุคคลที่เคยทำงานรับใช้หน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และต้องการกลับมาเรียนต่อในสายแพทยศาสตร์
          หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ในปีนี้เปิดรับสมัครนิสิตเข้าเรียน ผ่านระบบ TCAS ทั้ง 4 รอบ โดยเราพร้อมผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤต ทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรก ถือเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความปลอดภัยของประชาชน

 

 

 

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดรับสมัครนักศึกษาผ่านระบบ TCAS ทั้ง 4 รอบ

ข้อมูล TCAS คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รายละเอียดการสมัครเรียนได้ที่


สมัครเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต : https://medicine.up.ac.th/th/admission67.aspx

สมัครเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ : medicine.up.ac.th/th/AdmissionMED68.aspx

 

ติดต่อคณะ

โทร: 0 5446 666 ต่อ 7020

อีเมล: medicine@up.ac.th

เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา: http://www.medicine.up.ac.th/

 


 

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   คณะแพทยศาสตร์   
ข้อมูล/ข่าว :    ข่าว : ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร / ข้อมูลสัมภาษณ์ : ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีคณะแพทยศาสตร์   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
7/2/2568 16:43:35น. 490
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน