วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๔๕ น. อธิการบดี ม.พะเยา รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมคณะเข้านมัสการ เรื่อง การถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ แด่พระไพศาลประชาทร วิ.(พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) ณ วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยพะเยาได้ให้ความสำคัญเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จึงได้นำหลักการสำคัญและเป้าหมายของ SDGs มาเป็นแนวทางและเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้นำหลักการ “The Rule of Law” หรือที่เรียกว่า “หลักนิติธรรม” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ SDGs เป้าหมายที่ 16 มาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัธชนธกิจทั้ง ๕ ด้าน ตามแผนยุทธศาสตร์คณะนิติศาสตร์ เพื่อให้มีการผลักดันสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน (Wisdom for Community Empowerment) และวิสัยทัศน์ (Vision) “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน” โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ด้านกฎหมาย บูรณาการด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ควบคู่กับการวิจัยและการให้บริการวิชาการ โดยมีผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ คือ การดำเนินการและขับเคลื่อนร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการส่งเสริมการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือก คือ “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญภายใต้หลัก “หลักนิติธรรม (Rule of Law)” อันเป็นหลักกฎหมายสากลที่ได้รับการยอมรับในระหว่างประเทศว่าหลักนิติธรรม คือ หลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน โดยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ถูกกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และขึ้นทะเบียนทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งถือเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่แห่งแรกของประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับ มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการและติดตามประเมินผล และการพัฒนาระบบมาตรฐานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตลอดจนด้านการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน และต่อมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้นำไปเป็นแนวทางดังกล่าวขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนด้วยประชาชนในระดับพื้นที่
พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง ถือเป็นพระนักพัฒนา ทั้งทางด้านพระพุทธศาสนาและมิติทางสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้มีจริยวัตรหรือการแสดงออกถึงความเป็นคนดี มีคุณธรรมและสุจริตธรรมให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน และผู้คนที่กำลังมีความทุกข์ ด้วยหลักศรัทธาในพระพุทธศาสนา และการพัฒนาวัดจนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การช่วยเหลือชุมชน การสร้างโรงพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ กลุ่มเด็กกำพร้า ด้อยโอกาส ยากจน ไร้ที่พึ่ง กลุ่มคนพิการ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์โดยเฉพาะด้าน สิทธิมนุษยชน (Human Right) และ ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ที่มุ่งให้โอกาสแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
ประการสำคัญท่านยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มนำแนวคิด บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มาปรับใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม โดยใช้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยความเป็นธรรม เป็นที่พึ่งของประชาชนเมื่อมีข้อพิพาทระหว่างกัน โดยใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงราย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒” โดยเป็นการขับเคลื่อนตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ มติที่ ๑๑๖/๒๕๖๔ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ต่อมาเมื่อพระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) จึงได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (วัดห้วยปลากั้ง) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนที่มีข้อพิพาทนำข้อพิพาทดังกล่าวมาไกล่เกลี่ย โดยที่ไม่ต้องเป็นคดีความขึ้นศาลกัน อันทำให้เกิดความสมาณฉันท์ของคนในชุมชน และทำให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคีกัน ดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ย เผยแพร่ความรู้ ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยพระไพศาลประชาทร วิ. ทำหน้าที่เป็นประธานคณะดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (วัดห้วยปลากั้ง) และมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์
จากผลงานที่ท่านพระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) ซึ่งท่านได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความสำเร็จอันเด่นชัดในด้านทั้งทางด้านพระพุทธศาสนา และในด้านการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม จนเป็นที่ประจักษ์และได้ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม อุทิศตนจนเกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นอเนกประการ ทั้งพระอาจารย์ท่านยังให้ความเมตตาร่วมขับเคลื่อนผลงานด้านการจัดการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส และด้านกฎหมาย โดยนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแบบอย่างทางสังคม อันเป็นผลให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับการยอมรับจากกระทรวงยุติธรรม ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรมทางเลือกด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ แด่พระไพศาลประชาทร วิ.(พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) โดยมีกำหนดพิธีแสดงมุทิตาแด่พระไพศาลประชาทร วิ.(พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) ในวันอังคารที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ และกำหนดพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี ๒๕๖๖ วันอังคารที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘