สหเวชศาสตร์ ม.พะเยา มุ่งสร้างนวัตกรรมสุขภาพ ด้วยศาสตร์ทางวิชาชีพ ชั้นนำของประเทศ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน

7/1/2568 16:37:10น. 61
สหเวชศาสตร์ ม.พะเยา มุ่งสร้างนวัตกรรมสุขภาพ


          คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นอีกหนึ่งคณะที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตบุคลากรทางด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบสาธารณสุขในปัจจุบันและอนาคต ทำให้คณะนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจในสายอาชีพสุขภาพและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้อื่น วันนี้เราได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุทธิพงษ์ พลคำฮัก คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่จะมาให้ข้อมูลสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนตัดสินใจสมัครเรียนคณะสหเวชศาสตร์ กันค่ะ

หลักสูตรโดดเด่นการบูรณาการการเรียนการสอนกับชุมชน
           หลักสูตรการเรียนการสอนคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบด้วย 2 หลักสูตรหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และกายภาพบัณฑิต หลักสูตรเหล่านี้ได้รับการควบคุมและประเมินมาตรฐานวิชาชีพโดยสภาเทคนิคการแพทย์และสภากายภาพบำบัด การประเมินมาตรฐานในทุกครั้งที่มีการปรับปรุงหลักสูตร คณะจะได้รับการรับรองสูงสุด 5 ปีเสมอ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงและคุณภาพของหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
          อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญคือการบูรณาการการเรียนการสอนเข้ากับชุมชน คณะสหเวชศาสตร์มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างแท้จริง ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” การเรียนการสอนของนิสิตจึงไม่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม นอกจากนี้ คณะยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณลักษณะด้าน Soft Skills ของนิสิต โดยปลูกฝังแนวคิด "Heaven Care" ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ นิสิตได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจ และการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย ชุมชน และเพื่อนร่วมงาน ผ่านกระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมในชุมชน สิ่งเหล่านี้ทำให้นิสิตของคณะได้รับการยอมรับในความมีน้ำใจและจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง ทั้งในช่วงฝึกงานและการทำงาน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในด้านวิชาการและจิตใจ พร้อมตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและสังคมได้อย่างครบถ้วน



อาจารย์มีความรู้และประสบการณ์ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
          การดูแลนิสิตของคณะฯ เป็นระบบที่ครอบคลุมและใส่ใจในทุกมิติ นิสิตมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลทั้งในเรื่องของการเรียน การปรับแผนการศึกษา การติดตามผลการเรียน แต่ละท่านรับผิดชอบนิสิตประมาณ 5-10 คน ทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เป็นเสมือนผู้ปกครองช่วยประสานและติดตามการแก้ไขอย่างใกล้ชิด โดยแบ่งการดูแลออกเป็นหลายระดับ เริ่มจากระดับคณะ ซึ่งมีรองคณบดีฝ่ายวิชาการ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลภาพรวมของกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเรียน การติดตามผลการศึกษา ส่วนในด้านอื่น ๆ ของนิสิตที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนโดยตรง จะได้รับการดูแลโดย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายคุณภาพนิสิตและกิจการพิเศษท่านมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของนิสิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่นิสิตมีปัญหา เช่น ปัญหาด้านการเงิน สุขภาพ หรือเรื่องส่วนตัว ท่านจะช่วยประสานกับหลักสูตรเพื่อให้ติดตามและช่วยเหลือนิสิตได้อย่างเหมาะสม


โอกาสในการทำงาน
          บัณฑิตจากคณะเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ยังคงเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก นอกจากนี้ หลักสูตรของคณะไม่ได้จำกัดเพียงการเตรียมนิสิตเพื่อทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ เช่น การเปิดคลินิกส่วนตัว การทำงานในสปอร์ตคลับ หรือเป็นนักกายภาพบำบัดประจำสนามกีฬา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพะเยาและใกล้เคียง ซึ่งมีความต้องการนักกายภาพบำบัดในสนามฟุตบอลและคลับกีฬาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกแนวโน้มที่สำคัญคือการที่นิสิตจากคณะเข้าสู่อาชีพครูในโรงเรียนศึกษาพิเศษ เพื่อดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ปัจจุบันโรงเรียนในระบบนี้มีความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มากขึ้น และบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการบรรจุเข้าสู่ตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สายงานนี้เป็นที่สนใจของนิสิตจำนวนมาก
          สำหรับหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ แม้ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การใช้งานระบบอัตโนมัติ (Automation) ในห้องปฏิบัติการมากขึ้น แต่วิชาชีพนี้ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการตรวจวินิจฉัยและประเมินโรคต่างๆ เช่น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นักเทคนิคการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการช่วยแพทย์ตรวจวิเคราะห์โรคและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด เห็นได้ชัดว่าตลาดแรงงานสำหรับบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ยังคงขยายตัว โดยนิสิตสามารถเลือกทำงานในระบบสาธารณสุข หรือพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ เปิดคลินิกหรือ Lab เป็นของตัวเองได้ เพราะทั้งหลักสูตรกายภาพบำบัดหรือเทคนิคการแพทย์ ยังคงมีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน และมีศักยภาพในการพัฒนาอาชีพที่หลากหลาย พร้อมตอบสนองต่อความต้องการในสาขาวิชาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต



การสมัครเข้าศึกษา
คณะเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาต่อในรอบ TCAS 68 โดยเปิดรับสมัครในโครงการรับตรงโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการ และอีกหลายโครงการ 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานรับเข้าศึกษา กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
โทร 0 5446 6666 ต่อ 1270 - 3 หรือที่เว็บไซต์ www.admission.up.ac.th

 


 

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา   
ข้อมูล/ข่าว :    ข่าว : ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร / ข้อมูลสัมภาษณ์ : คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
7/1/2568 16:37:10น. 61
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน