มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และห้องประชุมอาคารเรือนรับรองพิเศษ มหาวิทยาลัยพะเยา
วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 256 รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษา โดยการประชุมในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเสวนาและแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยพะเยาร่วมเป็นวิทยากร อาทิ
1. การดำเนินงานของหน่วยรับรองการจัดการก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยพะเยา
วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ คณบดีคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา
2. เทคนิควิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกระดับมหาวิทยาลัย (กรณีศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา)
วิทยากรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนทิยา กรีธาชาติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา
3. แนวทางการเข้าสู่ Net Zero Pathway ของมหาวิทยาลัยพะเยา
วิทยากรโดย ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา
4. เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และความสำเร็จของการดำเนินงานการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัย
โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แก่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวิทย์ ปัญญาวงศ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนทิยา กรีธาชาติ
- ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์
มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นสถาบันการศึกษาตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติที่สวยงามกว่า 5,118 ไร่ ด้วยนโยบายที่กำหนดให้มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 25% พื้นที่ป่าและน้ำ 75% ทำให้มหาวิทยาลัยพะเยามีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนค่อนข้างสูง นโยบายของมหาวิทยาลัยได้สร้างให้เกิดการตระหนักและการรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงระบบขนส่งมวลชนโดยระบบไฟฟ้า และการไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์สัญจรภายในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ยังได้ให้ความสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมาย การพัฒนาองค์กรในฐานะผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่สถาบันที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านองค์ความรู้และนวัตกรรมและเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยพะเยาให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลก
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนากลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) มีผู้แทนมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 23 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยพะเยามีความตั้งใจและมุ่งมั่น พร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเป็นต้นแบบและแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยร่วมผลักดันนโยบายและแนวทางความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกันต่อไป