ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยพะเยา โดย กองบริหารงานวิจัยและศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดกิจกรรมการฝึกอบรมปฏิบัติการ งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตร การสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น (9 ใบงาน) รุ่นที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น มีความรู้ความเข้าใจ แนวทางการดำเนินงาน ตามนโยบาย ทิศทางและเป้าหมายของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
โดยกิจกรรมครั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญฤทธิ์ สินค้างาม รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้กล่าวรายงาน การจัดกิจกรรมได้รับเกียรติจากคุณชนันต์ติณณ์ เทียนทอง เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ระดับ 7 โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ พร้อมด้วยวิทยากรจากศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยพะเยา มาเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมครั้งนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากองค์กรต่าง ๆ ที่ตอบรับเข้าร่วมจำนวน 10 แห่ง ได้แก่
1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา
2. โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลจุน
3. โรงเรียนพญาลอวิทยาคม
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
5. เทศบาลตำบลจุน
6. เทศบาลตำบลแม่ใจ
7. องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน
8. องค์การบริหารส่วนตำบลดงเจน
9. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านมาง
10. องค์การบริหารส่วนตำบลร่มเย็น
รวมถึงคณะทำงานจากศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยพะเยา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน ประกอบด้วยภาคบรรยายและปฏิบัติการ งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนหลักสูตรการสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น (9 ใบงาน) ประกอบด้วย
ใบงานที่ 1 การเก็บข้อมูลพื้นฐานในท้องถิ่น
ใบงานที่ 2 การเก็บข้อมูลการประกอบอาชีพในท้องถิ่น
ใบงานที่ 3 การเก็บข้อมูลด้านกายภาพในท้องถิ่น
ใบงานที่ 4 การเก็บข้อมูลประวัติหมู่บ้าน ชุมชน วิถีชุมชน
ใบงานที่ 5 การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพืชในท้องถิ่น
ใบงานที่ 6 การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของสัตว์ในท้องถิ่น
ใบงานที่ 7 การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของชีวภาพอื่น ๆ ในท้องถิ่น
ใบงานที่ 8 การเก็บข้อมูลภูมิปัญญาในท้องถิ่น
ใบงานที่ 9 การเก็บข้อมูลแหล่งทรัพยากรและโบราณคดีในท้องถิ่น
การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการดำเนินงานทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรมในการนำองค์ความรู้ แนวคิด แนวทาง และวิธีการไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยพะเยาหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป