ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล คณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม เข้ารับโล่รางวัลระดับเหรีญทอง โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ประจำปี 2566 ในงานพะเยาวิจัยครั้งที่ 13 ณ ห้อง UB 002 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา
โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีชื่อว่า “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรชุมชนด้านการตลาดบนฐานคิดการประสานความร่วมมือสู่ความยั่งยืน : กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา” ที่ประกอบด้วยทีมนักวิจัย 10 คน ได้แก่
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง หัวหน้าโครงการและนักวิจัย
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ศรี เกียรติบุตร นักวิจัย
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญพัทธ์ มุ่งพัฒนสุนทร นักวิจัย
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ จันทร์แดง นักวิจัย
5. อาจารย์สาริณีย์ ภาสยะวรรณ นักวิจัย
6. ดร.อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ นักวิจัย
7. ดร.สุธินี ชุติมากุลทวี นักวิจัย
8. อาจารย์พิพัฒน์ ธนากิจ นักวิจัย
9. คุณภัทธิญา จินดาคำ เลขานุการ
10. คุณพรโอบอุ้ม วงศ์วิลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ
ผลิตภัณฑ์ที่นำมายกระดับในโครงการนี้ คือ “ชุดฮักขิงแกง” ซึ่งเป็นเสื้อผ้า Collection หนึ่งของกลุ่มผ้าพิมพ์รักษ์โลก ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินพื้นที่เอกชน ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดยพัฒนาขึ้นในปี 2566 ร่วมกับนักวิจัยคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ชุดฮักขิงแกงนี้ผลิตจากผ้าพิมพ์ใบไม้รักษ์โลกที่ใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถหาได้ภายในชุมชน เช่น ใบสักทอง ใบเพกา และดอกแม่ม่าย แล้วนำมาพิมพ์ลายใบไม้บนผืนผ้าด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ 100% ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 และให้ความสำคัญกับการมุ่งขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ที่อาศัยการระเบิดจากภายในและตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำรงอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้นั้น นับว่าเป็นปัจจัยหนุนเสริมสำคัญให้กลุ่มผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง มีจุดมุ่งเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย มีมูลค่าสูง มีการหมุนเวียนวัสดุเศษเหลือนํามาใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงไม่ก่อให้เกิดขยะ และมีการต่อยอดเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรมล้านนาที่มีอยู่ในชุมชน เนื่องจากพื้นที่อำเภอจุน มีวัดพระธาตุขิงแกงซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในองค์พระธาตุได้บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุกระดูกเท้าข้างขวาของพระพุทธเจ้าไว้ โดยมียักษาที่คอยปกปักรักษาองค์เจดีย์พระธาตุขิงแกงไว้