สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (UPITI) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมนางสาวกัญญาณัฐ สุวรรโณ รักษาการแทนหัวหน้างานศูนย์อุทยานวิทยาศาสตร์ รับโล่รางวัลระดับ Silver จากรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้กิจกรรมการประกวดรางวัลพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space ประจำปี 2566 จัดโดยกองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา
สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (UPITI) หรืออุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหารครบวงจร ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ด้านมาตรฐานอาหารที่เกี่ยวข้อง การจัดหลักสูตรอบรมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การจัดอบรมการใช้เครื่องมือในการแปรรูป ทำให้ผู้ประกอบการเกิดการเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ให้ได้จริง รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การต่อยอดผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม การบริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่ต้นทางคือการค้นหาโจทย์ความต้องการจากผู้ใช้ประโยชน์หรือการสร้างไอเดียการพัฒนานวัตกรรม ไปจนถึงปลายทางคือการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมฝั่ง Demand ได้แก่ ชุมชน หรือภาคอุตสาหกรรมกับนักวิจัยหรือองค์ความรู้และทรัพยากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นฝั่ง Supply ทำให้เกิดการแก้ปัญหาผลงานวิจัยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เสริมสร้างการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความสามารถในการแข่งขันทำให้เกิดเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และเกิดการพัฒนาด้านการผลิตอย่างยั่งยืนในพื้นที่
ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร เป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหารครบวงจร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักภาพและยกระดับผู้ประกอบการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวิเคราะห์โจทย์ การลงพื้นที่วินิจฉัยสถานประกอบการ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตสินค้าด้วยเครื่องมือและเครื่องจักรที่ทันสมัยที่พร้อมให้บริการภายใต้มาตรฐาน อย. การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการจัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ นิสิต อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด