คณะวิศวกรรมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต บัวกล้า รองคณบดีฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอราวิล ถาวร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธิ์ธนนท์ พงษ์พานิช หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการวิศวกรรม ร่วมต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเงิน จันทรมณี ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมด้วยคณะกรรมการกองบริหารงานวิจัยในการตรวจเยี่ยม (Site Visit) การประกวดรางวัลพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาทักษะทางวิชาชีพวิศวกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะวิศวกรรมศาสตร์
ศูนย์พัฒนาทักษะสำหรับอาชีพวิศวกรรม (Development Center for Professional Engineering) เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานหลักของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Research and Academic Service Center of Engineering) หรือ “RACE” ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านวิศวกรรมในระดับมืออาชีพ โดยจะมุ่งเน้นให้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือสายงานที่ต้องการพัฒนา โดยผู้ที่ได้รับการพัฒนาจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานหรือการทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะตรงตามความต้องการของชุมชนและประเทศ โดยจัดเป็นหลักสูตรสำหรับพัฒนากำลังคน (Up-Re-New Skill) ซึ่งมีทั้งด้านวิศวกรรม (รับรองมาตรฐานโดยสภาวิศวกร) และทักษะอื่นร่วมด้วย โดยพื้นที่การเรียนรู้แบ่งเป็น 4 แห่ง ดังนี้
[1] พื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ (Automated Manufacturing Technology) สอนตั้งแต่การผลิตขั้นพื้นฐาน เช่น งานกลึง งานกัด งานเชื่อม การใช้เครื่องมือช่างพื้นฐาน เป็นต้นไปจนกระทั่งการผลิตชิ้นงานอัตโนมัติด้วยเครื่องจักร CNC เช่น การเขียนคำสั่งใช้งานเครื่อง CNC การเขียน CAD/CAM ในงานอุตสาหกรรม และการใช้งานเครื่อง CNC
[2] พื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีระบบควบคุมอัจฉริยะ (Intelligent Control System Technology) สอนเกี่ยวกับพื้นฐานการออกแบบระบบการควบคุมอัจฉริยะ เช่น ระบบพีแอลซีและนิวเมตริกส์ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) เทคโนโลยีเซนเซอร์และระบบควบคุม เทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะ 4.0 เป็นต้น
[3] พื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีงานก่อสร้างสมัยใหม่ (Modern Construction Technology) สอนเกี่ยวกับการออกแบบอาคารด้วยเทคโนโลยี BIM (Building Information Model) หรือแบบจำลองข้อมูลอาคารแบบดิจิทัล เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) การพัฒนาทักษะและความรู้งานระบบในอาคาร เป็นต้น
[4] พื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีวิศวกรรมสำหรับผู้ประกอบการสมัยใหม่ (Engineering Technology for Modern Entrepreneur) สอนเกี่ยวกับพื้นฐานการบริหารองค์กรด้วยข้อมูล (Data Driven Management) เช่น สเปรตชีทเบื้องต้น พื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นด้วย Power BI การพัฒนาทักษะระบบสารสนเทศเพื่อบริหารทรัพยากรองค์กร (ERP) การปรับปรุงผลิตภาพในธุรกิจการบริการ และการสร้างแนวคิดการบริหารองค์กรด้วยบอร์ดเกมส์ เป็นต้น