ประกันภัยภาคบังคับ / ประกันภัย พ.ร.บ.

30/6/2566 14:59:48น. 5962
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

ประกันภัยภาคบังคับ / ประกันภัย พ.ร.บ.

 

บทความกฎหมายเรื่องใกล้ตัววันนี้ขอนำเสนอเรื่อง ประกันภัยภาคบังคับหรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.ซึ่งหมายถึง การที่เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นมีสาระสำคัญที่เจ้าของรถพึงทำความเข้าใจ เพราะหลายท่านไม่ทำประกันเพราะคิดว่ารถของตัวเองไม่ได้ต่อภาษีประจำปี เป็นรถเก่า หรือคิดว่าไม่สำคัญปล่อยให้ประกันภัยขาดไปบ้าง ผู้เขียนจึงอยากนำสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังในรูปแบบการถามต่อบ เพื่อการทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้

 

ทำไมต้องบังคับให้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ?

คำตอบ : การบังคับให้เจ้าของรถต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการประสบภัยจากรถ โดยจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ และมีเงินช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต และเป็นหลักประกันให้แก่สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิดเพราะบริษัทที่รับประกันภัยจะเข้ามาช่วยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดไว้

 

รถประเภทใดบ้างที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ?

คำตอบ : ตามกฎหมายกำหนดให้ รถทุกชนิดทุกประเภ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร เป็นรถที่เจ้าของมีไว้ใช้ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นคนละกรณีกับการที่แม้ว่าจะมีรถบางประเภทที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็เข้าข่ายเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตามกฎหมาย เช่น รถที่มีการดัดแปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์ไม่ถูกต้องขนส่งจึงไม่ต่อทะเบียนให้ แต่ก็ต้องทำประกันภาคบังคับเช่นกัน

 

มีรถที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. หรือไม่ ?

คำตอบ : รถต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ ประกอบด้วย รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และรถสำหรับผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด รถของกระทรวง ทบวงกรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และส่วนราชการท้องถิ่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระขององค์กรใดๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ?

คำตอบ : ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ ได้แก่  เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ

 

หากไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. มีโทษตามกฎหมาย ?

คำตอบ : หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีประกันภัย พ.ร.บ. ตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

 

ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองใครบ้าง ?

คำตอบ : คุ้มครอง “ผู้ประสบภัย หมายถึง ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้

 

ซื้อประกัน พ.ร.บ. ได้ที่ไหน ?

คำตอบ : เราสามารถซื้อประกัน พ.ร.บ.ได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ รวมถึงสาขาของบริษัทนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีสาขาให้บริการอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากบริษัทใดฝ่าฝืนไม่รับประกัน พ.ร.บ.ตามที่กฎหมายกำหนดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาท

 

 

อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. แพงไหม ?

คำตอบ : อัตราเบี้ยประกันเป็นอัตราคงที่และเป็นอัตราเดียวแยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ บริษัทประกันภัยจะไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียน ที่ 1/2551 เรื่อง การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ดังนี้

อัตราเบี้ยประกันภัยคงที่ (ไม่รวมภาษีอากร)

สำหรับการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

 

1.รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์

 

ลำดับ

ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์

การใช้รถยนต์

ส่วนบุคคล

(บาท/ปี)

รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ

(บาท/ปี)

1.

รถจักรยานยนต์

 

 

 

1.1 ไม่เกิน 75 ซี.ซี.

150

150

 

1.2 เกิน 75 ซี.ซี. ไม่เกิน 125 ซี.ซี.

300

350

 

1.3 เกิน 125 ซี.ซี. ไม่เกิน 150 ซี.ซี.

400

400

 

1.4 เกิน 150 ซี.ซี.

600

600

2.

รถสามล้อเครื่อง

 

 

 

2.1 ในเขต กทม.

720

1,440

 

2.2 นอกเขต กทม.

400

400

3.

รถสกายแลป

400

400

4.

รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน

600

1,900

5.

รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ขนาดที่นั่ง

 

 

 

5.1 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง

1,100

2,320

 

5.2 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง

2,050

3,480

 

5.3 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง

3,200

6,660

 

5.4 เกิน 40 ที่นั่ง

3,740

7,520

 

รถยนต์โดยสารหมวด 4 (วิ่งระหว่างอำเภอกับอำเภอในจังหวัด)

 

 

 

5.5 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง

-

1,580

 

5.6 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง

-

2,260

 

5.7 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง

-

3,810

 

5.8 เกิน 40 ที่นั่ง

-

4,630

6.

รถยนต์บรรทุก

 

 

 

6.1 น้ำหนัก ไม่เกิน 3 ตัน

900

1,760

 

6.2 น้ำหนัก เกิน 3 ตัน ไม่เกิน 6 ตัน

1,220

1,830

 

6.3 น้ำหนัก เกิน 6 ตัน ไม่เกิน 12 ตัน

1,310

1,980

 

6.4 น้ำหนัก เกิน 12 ตัน

1,700

2,530

7.

รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรดขนานน้ำหนักรวม

 

 

 

7.1 ไม่เกิน 12 ตัน

1,680

1,980

 

7.2 เกิน 12 ตัน

2,320

3,060

8.

หัวรถลากจูง

2,370

3,160

9.

รถพ่วง

600

600

10.

รถยนต์ป้ายแดง(การค้ารถยนต์)

 

 

11.

รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร

 

 

12.

รถยนต์ประเภทอื่นๆ

 

 

 

2.รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ลำดับ

ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์

การใช้รถยนต์

ส่วนบุคคล

(บาท/ปี)

รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ

(บาท/ปี)

1.

รถจักรยานยนต์

300

350

2.

รถสามล้อ

500

1,440

3.

รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน

600

1,900

 

หมายเหตุ :

1. รถที่จดทะเบียนในต่างประเทศและนำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว อัตราเบี้ยประกันภัยให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้น หรือไม่เต็มปีตามพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ พ.ศ. 2548

2. ให้นำอัตราเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลแยกตาม ซี. ซี. มาใช้กับรถจักรยานยนต์สามล้อดัดแปลงสำหรับคนพิการโดยอนุโลม

 

 

ประกัน พ.ร.บ.คุ้มครองอะไรบ้าง ?

คำตอบ : ปัจจุบันได้รับความคุ้มครองเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนที่10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารประกอบ เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยได้รับการคุ้มครองดังนี้

 บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้

ความคุ้มครอง

ต่อราย

  • ค่ารักษาพยาบาล ตามความเสียหายที่แท้จริง

ไม่เกิน 80,000 บาท

  • เสียชีวิต

500,000 บาท

  • ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ในอาชีพประจำ และอาชีพอื่น ๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป)

500,000 บาท

  • สูญเสียมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนสองข้าง หรือเท้าสองข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาสองข้าง หรือสายตาสองข้าง (ตาบอด)

500,000 บาท

  • สูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ แขนหนึ่งข้าง เท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า ขาหนึ่งข้าง สายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด)
    ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป

500,000 บาท

  • ทุพพลภาพอย่างถาวร (ไม่สามารถประกอบอาชีพประจำได้)

300,000 บาท

  • สูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่งข้าง หรือสายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด)
    กรณีใดกรณีหนึ่ง

250,000 บาท

  • หูหนวก เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถสืบพันธุ์
    จิตพิการอย่างติดตัว (โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนอย่างติดตัว)

250,000 บาท

  • สูญเสียอวัยวะอื่นใด ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ประสบภัย เช่น การสูญเสีย ม้าม ปอด ตับ ไต
    ฟันแท้ทั้งซี่ตั้งแต่ 5 ซี่ ขึ้นไป หรือกรณีกะโหลกศีรษะถูกทำให้เสียหาย เป็นเหตุให้ต้องใช้กะโหลกเทียม เป็นต้น

250,000 บาท

  • สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว

200,000 บาท

  • ค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จ่ายตามวันที่รักษาจริง ไม่เกิน 20 วัน

200 บาท/วัน

 

 

ค่าเสียหายเบื้องต้น

บริษัทประกันฯจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (เป็นวงเงินเดียวกันกับความคุ้มครองข้างต้น) ให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับการร้องขอ โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้

  1. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน
  2. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
  1. ตาบอด
  2. หูหนวก
  3. เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
  4. สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
  5. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
  6. เสียอวัยวะอื่นใด
  7. จิตพิการอย่างติดตัว
  8. ทุพพลภาพอย่างถาวร
  1. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
  2. จำนวนตามข้อ 1. และ 2. รวมกัน หรือจำนวนข้อ 1. และ 3. รวมกัน แต่หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายตามข้อ 1. 2. และ 3. หรือได้รับความเสียหายตามข้อ 2. และ 3. ให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันไม่เกินจำนวน 65,000 บาท

หมายเหตุ- กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่รถที่เป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณี จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

 

 

หากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ไว้ ไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย
คำตอบ : เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ถ้าผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บเจ้าของรถต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือถ้าเสียชีวิตต้องรับผิดชอบค่าปลงศพ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ (กรณีบาดเจ็บเท่าที่รักษาจริงจะไม่เกิน 30,000 บาท กรณีเสียชีวิต 35,000 บาท) หากได้รับน้อยกว่านี้ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยยังคงมาขอรับส่วนที่ยังขาดอยู่ได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายไปแล้ว กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่เรียกเงินตามจำนวนที่ได้จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถรวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเพื่อเข้าสมทบอีกต่างหากภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียน

นอกจากนี้การที่ผู้ขับขี่รถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.ไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย ก็มีหน้าที่ต้องรับผิดฐานละเมิดซึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากมีการทำประกันภัย พ.ร.บ.ไว้จะช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อีกช่องทางหนึ่ง เช่น ผู้ประสบภัยถึงแก่ชีวิต และทายาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปรงศพ รวม 2,000,000 บาท หากทำประกันภัย พ.ร.บ.ไว้จะจะมีบริษัทประกันฯมาร่วมจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ เป็นต้น

--------------------------------

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

โทร. 0-2515-3999 โทรสาร. 0-2515-3970

สายด่วนประกันภัย 1186 

 

สำนักงาน คปภ. จังหวัดพะเยา

โทร. 054-449-603

เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์  เวลา 8.30-16.30 .

 





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   udom.ng@up.ac.th   
30/6/2566 14:59:48น. 5962
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2025

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน