เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติมา กาวีระ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และรองศาสตราจารย์พูนพงษ์ งามเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยบุคลากรคณะศิลปศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการ “ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง” ประจำปี ๒๕๖๖ ซึ่งในปีนี้ได้จัดเป็นครั้งที่ ๘ โดยเป็นโครงการในความร่วมมือระหว่างคณะศิลปศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา และหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย วัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง) จังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา และชุมชนโดยรอบโบราณสถานพระธาตุจอมทอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของล้านนาไทย ให้คงอยู่คู่เมืองพะเยา สืบไป
โครงการประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวแสดงความชื่นชมและยินดีให้ความร่วมมือในการจัดประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทองของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเป็นการร่วมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม จากนั้นได้รับความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินงานและกล่าวรายงานรวมถึงได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีใจความสำคัญว่า “ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยพะเยา ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมุ่งหวังที่จะปลูกฝังค่านิยม สืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี และสนับสนุนให้นิสิตได้มีโอกาสจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดพะเยา”
ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจองทองฯ ได้มีการนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ ๗ แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าที่มีภูมิลำเนาหรือมีที่พำนักในจังหวัดที่แหล่งน้ำไหลผ่าน ร่วมทำพิธีตักน้ำสรงพระธาตุจอมทอง ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ คือ “แม่น้ำปิง” จังหวัดเชียงใหม่, “แม่น้ำวัง” จังหวัดลำปาง, “แม่น้ำยม” จังหวัดแพร่, “แม่น้ำน่าน” จังหวัดน่าน, “แม่น้ำโขง” จังหวัดเชียงราย, “แม่น้ำอิง” จากกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และ “น้ำอ่างหลวง” จากแหล่งเก็บน้ำภายในมหาวิทยาลัยพะเยา แหล่งน้ำสำคัญซึ่งใช้หล่อเลี้ยงบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดพิธีตักน้ำและเจริญพระพุทธมนต์น้ำสรงพระธาตุจอมทอง ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญทั้ง ๗ แห่งมาทำน้ำสำหรับใช้สรงพระธาตุจอมทอง เพื่อความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขของผู้เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ยังมีเครื่องสักการะที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยมีแบบอย่างมาจากเครื่องสักการะแบบล้านนาโบราณ ได้แก่ ๑. พุ่มดอก ๒. พุ่มพลู ๓. หมากสุ่ม ๔. หมากเบ็ง ๕. ต้นผึ้ง ๖. ต้นเทียน ๗. ต้นธง ซึ่งนิสิตใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนและในวันหยุด มาช่วยกันทำด้วยความสมัครสมานสามัคคี และศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุจอมทอง ประเพณีในครั้งนี้นอกจากเป็นการรักษาทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรม สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” โดยจัดพิธีเปิดขึ้น ณ บริเวณถนนข้างศาลหลักเมืองพะเยา ก่อนเคลื่อนขบวน นำโดยช่างฟ้อนนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา แสดงฟ้อน “ปัญญาเรืองรอง ม่วง-ทอง ม.พะเยา” ออกแบบท่าฟ้อนโดย ครูอริน พูลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์พื้นบ้าน เดินทางไปยังโบราณสถานพระธาตุจอมทอง เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา ประกอบด้วย การจุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย และประเคนขันศีล การจุดเทียนสัตภัณฑ์สักสาระองค์พระธาตุจอมทอง การถวายผ้าห่มพระธาตุ ยาว ๓๖ เมตร ถวายผ้าห่มพระพุทธรูปประจำฤดูร้อน ถวายเครื่องไทยทาน และถวายผ้าป่า การกล่าวคำถวายข้าวตอกดอกไม้ น้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อนำน้ำไปสรงองค์พระธาตุ จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกันนำผ้าห่มพระธาตุจอมทองเวียนรอบองค์พระธาตุและนำขึ้นห่มองค์พระธาตุจอมทอง และร่วมเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา ทั้งนี้ คณะศิลปศาสตร์ขอขอบพระคุณคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา แขกผู้มีเกียรติ บุคลากรและนิสิตจากทุกภาคส่วนและหน่วยงาน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำให้โครงการดังกล่าวฯ ประสบผลสำเร็จด้วยดี