วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มหาวิทยาลัยพะเยา โดย ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้แทนมหาวิทยาลัย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม ระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยา และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงานเสวนา Creative Tourism Forum “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยอดภูลังกา” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของการสร้างเครือข่ายวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยวัตถุประสงค์การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเรื่องความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนและสนับสนุนด้านการวิจัยและวิชาการ และมีความร่วมมือในการผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม มุ่งพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือหน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชนที่มีศักยภาพในภาคเหนือ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้มีความร่วมมือทางการวิจัยใน “ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)” เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทีมนักวิจัยของทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความสนใจโจทย์งานวิจัยร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยพะเยาทำงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดพะเยา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดน่าน จนเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)” ซึ่งมีแนวคิดการกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้เป็นแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้สร้างสรรค์ “โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยอด-ภูลังกา” จนเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้
ภายในงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้แนวทางการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ Dr. Chang Tou Chuang อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งสิงค์โปร์ (NUS National University of Singapore) บรรยายในหัวข้อ “Creative Tourism in Asia: A Critical Perspective
และการบรรยาย หัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยอดภูลังกา” ในมิติด้าน PHAYAO Learning City โดย รองศาสตราจารย์ ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา และมิติด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเมืองชายแดนไทย - ลาว โดย อาจารย์ ดร.วารัชต์ มัธยมบุรุษ รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (UPITI) มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงการบรรยาย การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กรณีศึกษา จังหวัดน่าน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การบรรยาย หัวข้อ การประยุกต์ใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ยอดภูลังกา โดย ดร.นิรมล พรมนิล สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ดร.ชนิตา ดวงยิหวา Chula Creative Tourism Academy และภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้มีการให้ข้อเสนอแนะและมุมมองการดำเนินงานจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรม โปรแกรมที่ 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา เสี่ยงอารมณ์ คณบดีด้านวิรัชกิจและความร่วมมือนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย