โครงการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน โดย ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในจังหวัดพะเยาเมื่อครั้งเสด็จทรงงานจังหวัดพะเยา ปีพุทธศักราช 2527 ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยาได้ทำการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการปลูกฝ้ายหลวงและสืบสานพระราชปณิธานน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พัฒนาทักษะและต่อยอดการพัฒนากลุ่มทอผ้าฝ้าย บ้านหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 6 ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
กลุ่มทอผ้าฝ้าย ผามฝ้ายป้าเพียร บ้านหล่ายทุ่ง ตำบลเชียงม่วน จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีจากธรรมชาติ ของโครงการวิจัยผ้าฝ้ายลวดลายบนผ้าฝ้าย “ลายดอกสารภี” ดอกไม้ประจำจังหวัดพะเยา โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเป็น พันธุ์ไม้สิริมงคลในท้องที่จังหวัดพะเยา ได้ถูกใช้นำมาต่อยอดมาเป็นลายผ้า เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน ผามฝ้ายป้าเพียร จึงเป็นแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานให้กับลูกหลานในการเดินตามรอยพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ที่มา : หนังสือ "ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล"
ปัจจุบันโครงการวิจัยฝ้ายท้องถิ่น ร่วมฟื้นฟูให้กับชุมชนกลับมาปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้ายในหลายชุมชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมเพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไทยและส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน โดยมีพื้นที่ทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในดอยบุษราคัม อุทยานฝ้ายหลวง วัดอนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยา ปลูกฝ้ายสาธิตภายในพื้นที่ ทำการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือ ด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน
ขอขอบคุณภาพจาก
- หนังสือ "ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล"
- สพอ. เชียงม่วน จังหวัดพะเยา