วันที่ 22 กรกฏาคม 2565
คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ดร.ภก.ภูวิช ไชยคำวัง รองคณบดีฝ่ายคุณภาพนิสิตและบูรณาการพันธกิจกับชุมชน พร้อมด้วยนายกานตพงศ์ สุวรรณพจน์ ผู้ช่วยนักวิจัย หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ (Unit of Excellence : UoE) คณะเภสัชศาสตร์ ลงพื้นที่ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมชาวไทลื้อ ภายใต้"โครงการผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากแอ่งแถะ" ณ บ้านทุ่งมอก ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพืชสมุนไพรพื้นถิ่นไทลื้อเชียงคำ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจและมีการบริโภคอย่างแพร่หลาย ตลอดจนฝึกอบรมทักษะการแปรรูปและทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ชุมชน
โดยได้รับเกียรติจากคุณรัฐนันท์ ใจกล้า (ปราชญ์ชาวบ้าน) เป็นผู้ให้ความรู้พืชสมุนไพรไทลื้อและสาธิตการประกอบอาหารจากพื้นแอ่งแถะของชาวไทลื้อ
โดยแอ่งแถะ หรือชื่อสากลกรุงเขมา (/กฺรุงขะเหฺมา/, ชื่อวิทยาศาสตร์: Cissampelos pareira) หรือ เครือหมาน้อย เป็นพืชในวงศ์บอระเพ็ด (Menispermaceae)
ใบกรุงเขมามีสารเพกทิน เมื่อนำมาขยำกับน้ำจะเกิดเป็นวุ้น ใช้รับประทานได้ ในรากกรุงเขมามีสารแอลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น แก้ปวด ห้ามเลือด รักษาโรคทางระบบทางเดินอาหารและเป็นยาสมาน และในทางการแพทย์แผนไทยใช้รากกรุงเขมาแก้ไข้ ดีซ่าน ฯลฯ