เราที่กำลังอ่านบทความทางโทรศัพท์มือถือ หรือใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้ อาจจะรู้สึกว่าการเข้าถึงเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นเรื่อง ธรรมดา ที่อาจจะรู้สึกตกใจหรือแปลกใจหากรู้ว่ามีใครยังไม่เคยใช้ หรือทำไม่เป็น
ส่วนตัวแม้จะทำงานขับการการสื่อสารของภาคพลเมืองมาโดยตลอด บางครั้งก็รู้สึกคิดเหมือนกันว่าเรื่องพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ การเชื่อมเน็ต หรือการใช้โทรศัพท์ถ่ายรูป หรือการตรวจสอบค่าใช้จ่ายเน็ตหรือโทรศัพท์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องคุยกันแล้ว แต่เมื่อมีโอกาสทำงานด้านการเสริมศักยภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน มากขึ้นในระดับเล็กมากขึ้น เราพบว่ายังมีช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีดิจิทัลมหึมา อยู่ตรงนั้น... แล้วจะทำอย่างไรถึงจะลดความเหลื่อมล้ำลงได้บ้าง
ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นโครงการวิจัยเชิงปฎิบัติการที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรของสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนที่ดูแลด้านห้องปฏิบัติการนิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ร่วมกันทำโดยกำหนดพันธกิจหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและให้ความรู้ด้านสื่อให้กับประชาชนทุกภาคส่วน โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีสำนักเครือข่ายสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และพะเยาทีวี เป็นเครือข่ายร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง
ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 จนถึง มีนาคม 2565 มีประชาชนเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการสื่อสารดิจิทัล การเล่าเรื่องจากชุมชน และการผลิตสื่อด้วยโทรศัพท์มือถือ กว่า 600 คน โดยศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา มีรูปแบบการฝึกอบรมฯ ทั้งออนไลน์และออนไซต์ โดยเป็นการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Co- Creation) ตั้งแต่การออกแบบความต้องการจนถึงการติดตามผลการทำงานหลังการฝึกอบรม และนอกจากจะมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ แล้วเรายังจัดห้องสตูดิโอผลิตรายการสำหรับชุมชนหรือภาคประชาชนที่ต้องการเรียนรู้และยกระดับทักษะการผลิตสื่อเข้ามาใช้พร้อมกับให้ยืมอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น ตลอดจนเผยแพร่ผลงานสื่อของกลุ่มประชาชนต่าง ๆ เพื่อเสริมพลังทางการสื่อสารให้กับพวกเขาด้วย
ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา เชื่อว่าการเสริมศักยภาพด้านการสื่อสารให้กับคนธรรมดา คนด้อยโอกาส คนในพื้นที่ที่ห่างไกลให้สามารถใช้เครื่องมือการสื่อสาร คือแนวทางสำคัญหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนให้ดีขึ้น และเพิ่มพลังเสียงหรือการแสดงออกให้กับสังคมได้รับรู้และยอมรับการมีอยู่ของพวกเขา
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะมาเดี่ยว หรือมากลุ่ม ถ้าสนใจที่จะพัฒนาความรู้และทักษะด้วยการสื่อสาร การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลเพื่อคุณเอง หรือกลุ่ม หรือชุมชนสังคมในที่สุด ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของทุกคน
ติดต่อและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โทรศัพท์ 0954471842 อีเมล์: cmlcup2020@gmail.com เว็บไซต์ http://cmlc.bca.up.ac.th/ หรือ เฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/CMLCUP