วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา จัดนิทรรศการ การติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัย แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำปี 2564 ภายใต้แผนงาน โครงการการพัฒนาชุมชนนวัตกรรม ด้วยการยกระดับศักยภาพ ด้านการท่องเที่ยว นโยบายสาธารณะ วิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
การดำเนินงานภายใต้แผนงานดังกล่าว มีการดำเนินงานผ่านโครงการย่อย 16 โครงการย่อย ที่อาศัยองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมจากอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยส่งต่อไปยังชุมชน ผสานกับภูมิปัญญาเดิมในท้องถิ่น เกิดการสร้างนวัตกรในพื้นที่ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคคลอื่นได้ เกิดภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่าย ให้ชุมชนมีความพร้อมและพัฒนาสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรม เกิดการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน มีรูปแบบ Learning and Innovation Platform ที่มีความเฉพาะตามบริบทของพื้นที่ ขยายผลไปสู่การจัดทำแผนนโยบายท้องถิ่น/อำเภอ/จังหวัด จนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
การติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัย ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วย บพท. นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช พร้อมด้วย อาจารย์สุปราณี จงดีไพศาล ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ศ.ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงส์ทอง คุณสุเมธ ตั้งประเสริฐ คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช และผู้ประสานงานชุมชนนวัตกรรม ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ และดร.ไฉน น้อยแสง ร่วมติดตามผล พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่โครงการแผนและโครงการวิจัยย่อยทั้ง 16 โครงการ เพื่อนำไปต่อยอดและปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับพื้นที่มากที่สุด
ทั้งนี้ได้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ ชุมชนนวัตกรรมตัวอย่างใน 3 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน จากหัตถกรรมท้องถิ่น โดยการดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
2. พื้นที่ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว เป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากการแปลงทุนชุมชน โดยการดำเนินงานของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ 3. พื้นที่ตำบลบุญเกิด อำเภอดอกคำใต้ เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสำหรับกระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์