วันพุธที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ นำทีมผู้บริหาร คณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และบุคลากร ลงพื้นที่สร้างฝายชะลอน้ำเรียงด้วยหินแบบง่ายฝายแรก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างเป็นฝายแบบเรียงด้วยไม้ไผ่ แต่มีความไม่ทนทาน จึงปรับเปลี่ยนมาสร้างฝายแบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร (แบบกึ่งถาวร) เรียงเป็นพนังกั้นน้ำ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพสธ. อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และพื้นที่อนุรักษ์นกยูงไทย
มหาวิทยาลัยพะเยา มีเป้าหมายสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐ แห่ง ในบริเวณลำห้วยธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ป่าไม้และป่าชุมชนติดต่อแนวเขตมหาวิทยาลัยด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เส้นทางต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำแห่งที่ ๒ (อ่างเก็บน้ำภายในมหาวิทยาลัยพะเยา) การสร้างฝายชะลอน้ำเป็นการเตรียมการพัฒนาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพสธ. อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และพื้นที่อนุรักษ์นกยูงไทย ตามนโยบาย Green and Clean University และเนื่องด้วยในวันที่ ๓ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันรักษ์สัตว์ป่าโลก มหาวิทยาลัยพะเยา โดยกองอาคารสถานที่ ร่วมมือกับโครงการบูรณาการนกยูงล้านนาตะวันออกปี ๒๕๖๓ การจัดถิ่นที่อยู่อาศัยให้นกยูงไทยตามธรรมชาติ จึงได้ทำโครงการสร้างฝายหินเพื่อการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรน้ำ และรักษาพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย ในพื้นที่ป่าหลังมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่วนอุทยานร่องคำหลวง และแหล่งกระจายพันธุ์ นกกยูงไทย
“วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” ซึ่งแปลมาจากชื่อภาษาอังกฤษ World Wildlife Day กำหนดขึ้นโดยมติที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๖ หรือ CITES CoP16