วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ และ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วย การส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และการช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา และ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ณ ห้องประชุมศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดม งามเมืองสกุล กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมมือในครั้งนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน เผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่างบุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยา และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงการส่งเสริมด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรมและการฝึกทักษะการปฏิบัติงานทางวิชาชีพให้แก่นิสิต ให้มีทั้งความรู้ ทักษะในการใช้กฎหมายในภาคปฏิบัติ และเป็นผู้มีคุณธรรมในวิชาชีพนักกฎหมาย ปลูกฝังให้นิสิตตระหนักถึงภาระหน้าที่ของนักกฎหมายในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ ความช่วยเหลือ ด้านกฎหมาย และด้านอื่น ๆ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้บุคลากร นิสิต นักศึกษาในองค์กรเครือข่ายความร่วมมือได้ทำการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ตามหลักสูตรของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยพะเยา หรือตามที่หน่วยงานทั้งสองจะได้พิจารณาเห็นสมควรหรือเห็นชอบร่วมกัน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวต้อนรับและกล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มีวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัย สร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล” ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยมุ่งปฏิบัติเสมอมา ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมคน และเสริมสร้างศักยภาพคน โดยประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างนิสิตมีคุณภาพในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง มีความรู้ความสามารถ มีมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ รู้ทันโลก ทันเทคโนโลยี และมีทักษะที่สนองตอบต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ยืดหยุ่นตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมใหม่ เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนการสอนใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะและการปฏิบัติร่วมกับ ผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงงานวิจัยที่เป็นรากฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การถ่ายทอดและพัฒนาสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมให้ก้าวหน้า และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
แนวทางความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ในการผลิตบัณฑิต ด้านนิติศาสตร์ ที่มีความตระหนักถึงบทบาทภาระหน้าที่อันสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน