พิธีบวงสรวงสถานที่ก่อสร้างอาคารการเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย มหาวิทยาลัยพะเยา
อาคารการเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย ถือเป็นอาคารสำคัญ เป็นอาคารศูนย์รวมแห่งการอนุรักษ์นกยูงไทยในมิติต่างๆ “นกยูงไทยในล้านนา” โดยโครงการนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค เนื่องจากนำวิกฤติมาเป็นโอกาสเพื่อ “ป่าอยู่ได้ นกยูงอยู่ได้และคนอยู่ได้ อย่างเป็นสุข” เป็นต้นแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนในการเชื่อมโยงงานอนุรักษ์ พัฒนาสู่วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์พื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีนกยูงกระจายอยู่ในธรรมชาติ และวัฒนธรรมทั้ง ๘ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและการเชื่อมโยงมิติทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Economic Cluster: NEC) ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เน้นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างคุณค่าเชิงวัฒนธรรมระดับโลก พัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูง เชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในชาติพันธุ์ไท อันมีความเชื่อและศรัทธาและสัญลักษณ์เป็นนกยูง
เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานใน พิธีบวงสรวงสถานที่ก่อสร้างอาคารการเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ บุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยา และผู้แทนจากบริษัท ซีซีเอสคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมพิธีบวงสรวงในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารการเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทยการก่อสร้าง “อาคารการเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย” ในครั้งนี้ถือเป็นอาคารแรกของอุทยานการเรียนรู้นกยูงไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งงานวิจัย งานบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม ที่มุ่งเป้าเพื่อการอนุรักษ์นกยูงไทยที่จะเชื่อมโยงธรรมชาติ วัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยต่อไป รวมทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลเชิงพื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับภาค ต่อไปอย่างยั่งยืน