พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ในวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ โดยมีบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต จำนวน ๒,๗๓๖ ราย เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา
สภามหาวิทยาลัยพะเยามีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่พระสงฆ์ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ จำนวน ๑ รูป ได้แก่ พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) และพระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน ๔ รูป เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ในการนี้ อาจารย์ดีเด่นด้านการสอน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ได้แก่ รองศาสตราจารย์กันย์กัญญา ใจการวงค์สกุล และนักวิจัยดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล จำนวน ๔ ราย ได้แก่
๑. รองศาสตราจารย์อัจฉราภรณ์ ดวงใจ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
๒. รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ช่อลำเจียก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๓. อาจารย์ศานิตย์ ศรีคุณ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาติ ธนะ ด้านการวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน
มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นสถาบันอุดมศึกษาใน "กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น" ได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสและคุณภาพทางการศึกษา การพัฒนาและการนำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับประเทศและสากล ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรควบ ๒ ปริญญา จัดทำหลักสูตรระยะสั้น สำหรับ Reskil, Upskill และ Newskill เพื่อผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต พัฒนาอาจารย์ด้านการสอนด้วยกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ พัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของบุคลากรทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการสร้างผู้ประกอบการ Startup เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ร่วมพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยมีจุดเริ่มต้นจาก "๑ คณะ ๑โมเดล" เป็น "๑ คณะ ๑ สัญลักษณ์ความสำเร็จ" และมีเป้าหมายสู่การเป็น "ชุมชนนวัตกรรม" จัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยและในชุมชนจังหวัดพะเยา รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย ชุมชนบ้านหล่ายต้าและย่านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งเอกลักษณ์ของชาติ เช่น ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ประเพณีตานข้าวใหม่ใส่บาตรหลวง และการสวมใส่ผ้าไทยมหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งจากการจัดอันดับของ THE Impact Rankings, SCImago Institutions Rankings, UI GreenMetric World University Rankings และ Webometics Ranking of World Universities ผลการดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ภายใต้การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของสภามหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงานของบุคลากร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ความว่า
“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้า
มาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยพะเยา
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน
ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ
บัณฑิตทั้งหลายที่มาประชุมอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้มีศักยภาพทางวิชาการ โดยมี
ปริญญาบัตรเป็นเครื่องรับรองความรู้ความสามารถ แต่ในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน
ซึ่งบัณฑิตจะต้องกระทำต่อไปนั้น จะอาศัยเพียงวิชาการที่ได้รับมาจากมหาวิทยาลัย ยังไม่เพียงพอ
เพราะในวันข้างหน้า แต่ละคนอาจจะได้ประสบพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสถานการณ์หรือสังคมที่
แตกต่างหลากหลาย ทุกคนจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความรอบรู้
และประสบการณ์ที่กว้างขวาง ทั้งต้องฝึกฝนอบรมจิตใจให้ประณีต เข้มแข็ง และมั่นคงในคุณธรรม
จะได้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน ให้ดีให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นได้ ไม่ตกไปในทางเสื่อม
บัณฑิตมีความรู้ความสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว หากแต่ละคนจะได้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ
ก็เชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จได้ไม่ยากนัก
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน
และทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกมั่นคงทุกประการ”
หลังจากเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากหอประชุมพญางำเมือง ไปทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยพะเยา โดยศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหน่วยงานภายใต้ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน ๑๕๐ ไร่ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ของนิสิต ทดลอง วิจัย และพัฒนา ให้บริการทางวิชาการ อบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อชุมชน และสร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน จนสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบ เพื่อการประกอบอาชีพตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สามารถหารายได้จาก การจำหน่ายผลผลิตของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หรือผลผลิตจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ให้สมกับปณิธาน ของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ซึ่งกิจกรรมภายในศูนย์ประกอบด้วย ๗ ด้าน ได้แก่
๑. กิจกรรมด้านพืชและการเขตกรรม
๒. กิจกรรมด้านการผลิตปศุสัตว์
๓. กิจกรรมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
๔. กิจกรรมด้านการแปรรูป
๕. กิจกรรมด้านการวิจัยและฝึกอบรมวิชาชีพ
๖. กิจกรรมร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ และนิทรรศการ
๗. หน่วยวิจัยและบริการวิชาการ
ทั้งนี้ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ มีผู้ได้รับอนุมัติปริญญาในระดับต่าง ๆ ดังนี้ ปริญญาเอก ๓๓ ราย ปริญญาโท ๑๗๖ ราย ปริญญาตรี ๔,๔๗๑ ราย รวมทั้งสิ้น ๔,๖๘๒ ราย ซึ่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ กำหนดจัดขึ้น ในวันที่ ๑๔-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา