วันพุธที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร เข้าแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายศักดิ์ฤทธ์ิ สลักคำ ในโอกาสท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนปัจจุบัน พร้อมกันนี้ อธิการบดีและผู้บริหารได้แนะนำมหาวิทยาลัยพะเยาในการดำเนินงานแต่ละด้าน พร้อมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือกับจังหวัดพะเยา เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่เชิงเศรษฐกิจในจังหวัดพะเยา ให้เกิดเป็น Phayao Learning City
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย แนะนำการทำโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย (U2T) ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ ๒ มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้รวบรวมระบบ มีวัตถุประสงค์เน้นผลิตกำลังคน โดยจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน พัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิต และนิสิต นักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้พร้อมพัฒนา ๖๘ ตำบล ที่ทางมหาวิทยาลัยพะเยาได้จัดทำโครงการ ให้เป็นพื้นที่พอเพียงและยั่งยืน
จากนั้น รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ กล่าวว่า ด้านวิชาการปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ต้องการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น (Non Degree) ซึ่งมีหลักสูตรระยะสั้นกว่า ๕๐ หลักสูตร ครอบคลุมทุกศาสตร์ความรู้เพื่อ Upskill Reskill โดยใช้องค์ความรู้เน้นการพัฒนาทักษะ บางหลักสูตรสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ เช่น ด้านการแพทย์ วิชาชีพ เป็นต้น
รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยพะเยาได้ทำการบริหารจัดการพื้นที่การเรียนรู้ “ระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ๑๔ ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ตั้งแต่ปี ๑๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยมีการบูรณาการพันธกิจที่ ๔ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่มีรองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต และผู้ช่วยอธิการบดี กำกับดูแล โดยมีการทำวิจัยและบริการวิชาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก เน้นให้มีการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการสร้างผลิตภัณฑ์ในจังหวัดพะเยา โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมให้มีการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด”
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้กล่าวขอบคุณและพร้อมให้ความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินงานที่สามารถพัฒนาและขับเคลื่อนจังหวัดพะเยา สนองนโยบายจากรัฐบาลที่เน้นให้มีการพัฒนาทุกช่วงวัย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพะเยาได้ขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning city) ของยูเนสโก (UNESCO GNLC) เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับเมือง สร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาทางการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการ นำไปสู่การสร้างทักษะการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป