วันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 ณ อาคารสงวนเสริมศรี มหาวิทยาลัยพะเยา กองกิจการนิสิต และกองพัฒนาคุณภาพนิสิตและนิสิตพิการได้ร่วมกันจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน
(UP IDENTITY FESTIVAL) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือและเครือข่ายบุคลากรทุกระดับ ได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์กิจกรรมการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิตนักศึกษา กิจกรรมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพจิตในนิสิตนักศึกษา และได้รับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมและเกิดองค์ความรู้ แนวความคิดใหม่ในการพัฒนาและคิดค้นกิจกรรมการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิตนักศึกษาสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ภายใต้ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถสู่ความเป็นสากลได้
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนสู่สากล -Sustainable Student Affairs For Communities Empowerment หรือชื่อที่ใช้เรียกว่า “UP Identity festival” โดยมีการประชุมนำเสนอผลงานวิชาการการพัฒนานิสิตนักศึกษาผ่านกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยเปิดโอกาสให้คณะวิชาภายในมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือ นำเสนอผลงานในรูปแบบนิทรรศการด้านกิจกรรมพัฒนาอัตลักษณ์นิสิตนักศึกษา กิจกรรมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพจิตในนิสิตนักศึกษา รวมทั้งมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนานิสิตนักศึกษาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ SDGs 17 เป้าหมายจากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เป็นลักษณะประชุม Online Conference ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 และได้กำหนดพิธีเปิดกิจกรรมให้เป็นการภายใน และเผยแพร่ต่อสาธารณชนรูปแบบออนไลน์ในวันนี้ 6 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้จำกัดผู้เข้าร่วมงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามคำสั่งของจังหวัดพะเยา
กิจกรรมในครั้งนี้มีสถาบันเครือข่ายอุดมศึกษาภาคเหนือ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 4สถาบัน นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่หน่วยงานด้านการพัฒนานิสิตนักศึกษา ได้จัดให้มีการมอบรางวัล 3 ประเภท ได้แก่ รางวัลประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิต รางวัลประเภทนวัตกรรมการดูแลนิสิตด้านสุขภาพจิต และรางวัลประเภทการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
โดยผลการประกวด
- รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิต (Super KPI 1.2) ได้แก่ โครงการวิศวอัตลักษณ์ In Wonder Frame โดย ผศ.ดร.ปิยพงษ์ สุวรรณมณีโชติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์
- รางวัลชนะเลิศ ประเภท ประเภทนวัตกรรมการดูแลนิสิตด้านสุขภาพจิต (Super KPI 1.2 )ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนิสิตคณะศิลปศาสตร์ โดย อาจารย์ณัฐวร วงศ์จิตราทร จากคณะศิลปศาสตร์
- รางวัลชนะเลิศ ประเภทการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม (Super KPI 4) ได้แก่ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวดจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้ชาย โดยใช้หญ้าเอ็นยืดซึ่งเป็นภูมิปัญญาและพืชสมุนไพรท้องถิ่น
ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพในจังหวัดพะเยาและ/หรือภาคเหนือตอนบน โดยอาจารย์ธรรมนูญ รุ่งสังข์ จากคณะเภสัชศาสตร์