“UP Identity Festival”
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน
กองกิจการนิสิตและกองพัฒนาคุณภาพนิสิตและนิสิตพิการ ร่วมกันจัดงาน การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน (UP Identity Festival) ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 ณ อาคารสงวนเสริมศรี ซึ่งเป็นการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้ที่อยู่ในแวดวงกิจการนิสิตนักศึกษามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงาน ร่วมพูดคุยแนวทางการดำเนินงานด้านกิจการนิสิตนักศึกษาในอนาคต และในช่วงการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid -19
ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ online เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือและเครือข่ายบุคลากรทุกระดับได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ กิจกรรมการพัฒนา อัตลักษณ์นิสิตนักศึกษา กิจกรรมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพจิตในนิสิตนักศึกษา
พร้อมรับฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมและเกิดองค์ความรู้ แนวความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนา คิดค้นกิจกรรมการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิต นักศึกษา สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ภายใต้ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาอย่างยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถสู่ความเป็นสากล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานในการกล่าวเปิด การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน (UP Identity Festival) โดยมีผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต นายพิเชษฐ ถูกจิตร กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตมหาหวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
โดยกิจกรรมในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ได้มีพิธีมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่เข้าประกวดผลงาน เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษา มีทั้งหมด 3 ประเภท จากการนำเสนอได้มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ดังนี้
ประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาอัตลักษณ์นิสิต (Super KPI 1.2)
ชนะเลิศ - โครงการวิศวอัตลักษณ์ In Wonder Frame
รองชนะเลิศ อันดับ 1 - โครงการสุนทรียศิลป์แห่งภาษา
รองชนะเลิศ อันดับ 2 – โครงการ นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนพัฒนาชุมชน SEEN
ประเภทนวัตกรรมด้านการดูแลนิสิตด้านสุขภาพจิต (Super KPI 1.2)
ชนะเลิศ - โครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตของนิสิตคณะศิลปศาสตร์
รองชนะเลิศ อันดับ 1 - โครงการ Virtual run เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต คณะนิติศาสตร์
รองชนะเลิศ อันดับ 2 – โครงการพัฒนาห้องให้คำปรึกษาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประเภทการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม (Super KPI 4)
ชนะเลิศ - โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวดจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้ชาย โดยใช้หญ้าเอ็นยืด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและพืชสมุนไพรท้องถิ่น ต่อยอด เชิงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพในจังหวัดพะเยาและภาคเหนือตอนบน
รองชนะเลิศ อันดับ 1 - โครงการล้านนาตะวันออกสู่สากล
รองชนะเลิศ อันดับ 2 – โครงการ สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตำบลดอกคำใต้
หลังจากนั้น ได้มีการเสวนา ในเรื่อง พัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนสู่สากล Sustainable Student Affairs For Communities Empowerment ในรูปแบบ On line และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนา ผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนานิสิตนักศึกษา ดังนี้
- ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ จาก มหาวิทยาลัยพะเยา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อำนาจ อยู่สุข จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และในช่วงบ่ายเสวนาในหัวข้อ การนำเสนอผลงานด้านพัฒนานิสิตนักศึกษา จากสถาบันเครือข่ายภาคเหนือตอนบน กับวิทยากรที่มีประสบการณ์ในด้านการจัดกิจกรรมพัฒนานิสิต ได้แก่
- คุณสุทธิณีย์ ฉัตรยาลักษณ์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดร.อนวัช มีเคลือบ จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาทุกสถาบันในปัจจุบันต่างมุ่งไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดเพื่อให้ประเทศต่างๆนำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและสังคมสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษามีโอกาสในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และแสวงหาความร่วมมือด้านกิจกรรมการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายระดับสากล
โดยเชื่อมโยงกับนโยบายจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่นำเสนอในเรื่องของหลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงาน (Work - Based Learning) เพื่อสร้างคนไทยที่ทำเป็น คิดเป็น จัดการเป็น และเป็นพลังทางเศรษฐกิจ หลักสูตรต่างๆ ทุกระดับ ควรเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จาก “ท่อง” เป็น “ทำ” คือเรียนรู้จากการทำงาน หรือ WBL หรือ สหกิจศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยาได้มีการพัฒนาและมุ่งไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ตามวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัย สร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล”