วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการเทคโนโลยีของหอฟอกอากาศกลางแจ้งอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) “ฟ้าใส รุ่นที่ 2” กับ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในนาม บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) โดยพิธีลงนามความร่วมมือ จัดผ่านระบบออนไลน์ (MS Team) ณ ห้องประชุมบวรรัตนประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ในนามสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในนามบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการ เพื่อประสานความร่วมมือ และบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการด้านคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากสภาวะวิกฤติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยาได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้ระบุเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะที่ดี (Green and Clean University) รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และจากการที่พะเยาเป็นจังหวัดที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงติด 1 ใน 3 ของภาคเหนือ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง การสร้างความร่วมมือการติดตั้งหอฟอกอากาศระดับเมือง ในพื้นที่ชุมชน ในครั้งนี้ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาสร้างองค์ความรู้และการเรียนรู้โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้กับชุมชน จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในนาม บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ดำเนินการติดตั้งหอฟอกอากาศ “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2) ในพื้นที่จังหวัดพะเยา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นหอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส แห่งที่ 3” ของประเทศไทย โดยเป็นการติดตั้งจังหวัดแรกในส่วนของภูมิภาค เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่