วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นิสิตชั้นปีที่ 3 หลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร จำนวน 57 คน ฝึกปฏิบัติการชุมชนในโครงการฝึกปฏิบัติการชุมชน ต่อเนื่อง ณ อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
การจัดการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มุ่งเป้าหมายให้มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน จึงได้จัดกิจกรรมภาคปฏิบัติในรายวิชาโภชนาการชุมชนของนิสิตหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร ชั้นปีที่ 3 โดยให้นิสิตลงพื้นที่ปฏิบัติจริง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 13 หมู่บ้าน เพื่อสำรวจปัญหาด้านโภชนาการของอสม., ประเมินภาวะโภชนาการและการบริโภคอาหารของอสม. พร้อมกับสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่ อสม.ได้ทราบ และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน รวมถึงการวางแผนการดำเนินงานในการให้ความรู้ และคำแนะนำด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพสำหรับอสม. ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ของนิสิต และเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับชุมชน ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ และทักษะทางด้านโภชนาการ และการกำหนดอาหาร อันจะเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในส่วนของวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ 1. เพื่อให้นิสิตหลักสูตรโภชนาการ และการกำหนดอาหารได้ฝึกฝนการลงพื้นที่ปฏิบัติการในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมด้านโภชนาการ และการกำหนดอาหารที่สอดคล้องกับรายวิชาโภชนาการชุมชน 2. เพื่อให้นิสิตเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโภชนาการ และการกำหนดอาหารให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 13 หมู่บ้าน 3. โครงการตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนี้ การจัดหลักสูตรที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การบริการวิชาการเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรม และบัณฑิตมีสมรรถนะของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 ครบถ้วน (4Cs)
โดยในครั้งนี้ อ. นริศรา พันธุรัตน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร ผู้รับผิดชอบโครงการได้แบ่งการฝึกปฏิบัติการชุมชนเป็น 5 ฐาน คือ ฐานที่ 1 การเก็บข้อมูลทั่วไปของชุมชน วัฒนธรรม และการเข้าถึงอาหาร ฐานที่ 2 การเก็บข้อมูลทั่วไปและข้อมูลการบริโภคอาหารของ อสม. ฐานที่ 3 การประเมินสัดส่วนร่างกาย (Anthropometry) ส่วนสูง เส้นรอบพุง เส้นรอบสะโพก เส้นรอบกึ่งกลางแขน Triceps skinfold thickness Blood Pressure และแรงบีบมือ รวมถึงการวัดองค์ประกอบร่างกายด้วยเครื่อง BIA ฐานที่ 4 ประเมินอาหารบริโภค (Dietary Assessment) และฐานที่ 5 การประเมินความรู้ด้านโภชนาการของ อสม.
ในการนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องของขอบคุณทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำป่าหวาย และองค์การบริหารส่วนตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ที่ให้ความสะดวกในเรื่องการประสานกับ อสม. และเรื่องสถานที่จัดโครงการเป็นอย่างดี