ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดเทศกาลฝ้ายท้องถิ่น ย้อมสีมะเกลือ ครั้งที่ 1 ในวันเสาร์ ที่ 26 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้ทอผ้าใต้ถุนบ้าน ซอยอินฐาน 5 ชุมชนวัดอินทร์ฐาน ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ภายในงานได้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น การฝึกย้อมฝ้ายด้วยมะเกลือแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวิทยากรผู้ชำนาญ การอบรมเชิงปฏิบัติการการย้อมฝ้ายด้วยมะเกลือแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งผู้เข้าร่วมโครงการยังสามารถเรียนรู้วิธีการย้อมผ้าจากภูมิปัญญาที่หลากหลายผู้เข้าร่วมอบรมเป็นเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสิ่งทอ ตลอดจนผู้มีทักษะและมีความสนใจเกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ จากชุมชนในท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มตอผ้าปื้นเฮือน ชุมชนวัดอินทร์ฐาน, กลุ่มฮักทอ บ้านสบลืน, กลุ่มแม่กาเจริญ บ้านโทกหวาก, ศูนย์ทอผ้าไทลื้อวัดหย่วน, เจ้าของผลิตภัณฑ์นาแอน สราญใจ ดาริน อำเภอเชียงคำ, ผลิตภัณฑ์นสา อำเภอเชียงม่วน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับวิทยากรหลัก 3 ท่าน ได้แก่
1. คุณธวัชชัย พากเพียร บ้านร่องปอ อ.ภูกามยาว จ.พะเยา
2. คุณแม่ทองเพียร น้ำสา บ้านหล่ายทุ่ง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา
3. คุณชลณัฐ มัชชะ บ้านสบลืน อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต เป็นที่ปรึกษาโครงการ อ.จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน ท่านจุฬาสินี โรจนคุณกำจร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยาร่วมเป็นเกียรติในกิจกรรม
อ.ปณิธาน ประมูล หัวหน้าโครงการวิจัยฝ้าย นำคณะผู้ร่วมดำเนินการวิจัยในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เป็นการฟื้นภูมิปัญญาการย้อมมะเกลือที่หายไปจากพื้นจังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 30 ปี เป็นการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับฝ้ายท้องถิ่น และมีแผนที่จะยกระดับมะเกลือให้เป็นพืชเศรษฐกิจให้กับชุมชนบ้านร่องปอ ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ในกิจกรรมครั้งนี่นำมะเกลือซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นชุมชนมาใช้ในกิจกรรมจำนวน 100 กิโลกรัม และนำผ้าฝ้ายขาวทอมือจากเครือข่ายชุมลนมาร่วมย้อมพร้อมทำการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำไปเผยแพร่และสร้างประโยชน์ต่อไป
ดำเนินกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือของ “โครงการการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา และ โครงการโครงการระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา : การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าบนฐานทุนวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนรอบกว๊านพะเยา