ชมฟรี มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) เน้นส่งเสริมเยาวชนเรียนรู้นกยูงไทยแห่งล้านนาตะวันออก
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้พื้นฐานทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้ชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยพะเยาได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และคุณค่าของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จัดตั้งโดยคณะวิทยาศาสตร์ที่ต้องการมุ่งเน้นการบูรณาการ องค์ความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการนกยูงไทยแห่งล้านนาตะวันออก ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติทางชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับนกยูงไทย ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และพืช รวมทั้งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบในการผลักดันและอนุรักษ์นกยูงไทยสู่ระดับโลก โดยการขับเคลื่อนภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การอนุรักษ์นกยูงและอนุรักษ์ป่า ด้านที่ 2 เสริมสร้างเครือข่ายรักษ์นกยูงไทยทั้งในภูมิภาคและนานาชาติ ด้านที่ 3 บูรณาการการเรียนการสอนกับการอนุรักษ์นกยูง โดยจัดให้มีการผนวกเรื่องชีวิตนกยูงและการอนุรักษ์นกยูงกับการเรียนการสอน ด้านที่ 4 ส่งเสริมการวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุง ศิลปและวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์นกยูง โดยมหาวิทยาลัยจะนำนักวิจัยทำงานร่วมกับชุมชนในการศึกษาวิจัย สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับนกยูงในจังหวัดพะเยา และการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ให้มหาวิทยาลัยพะเยา และจังหวัดพะเยา เป็นเมืองท่องเที่ยวนกยูงไทยในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับการพัฒนาสู่ระดับสากล ด้วยการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกด้วย
ทางด้าน ประธานหลักสูตรสาขาวิชาชีววิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วรรณ สรรพสัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการจัดนิทรรศการครั้งแรกของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) มหาวิทยาลัยพะเยา ได้นำเสนอองค์ความรู้ทางชีววิทยาของนกยูงไทย (Pavo muticus) ซึ่งเกิดจากการระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญจากคณาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี การสนับสนุนจากกองอาคารสถานที่ ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยี และโครงการนกยูงไทยของ สวทช. ปี 2563-2564 อีกทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้โครงการล้านนาตะวันออก “เมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก” สู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายในนิทรรศการประกอบด้วยความรู้ทางชีววิทยา ในหลากหลายแง่มุมของนกยูงไทย ได้แก่ สัณฐานวิทยาภายนอก ภายใน โครงกระดูกของนกยูงไทย และแหล่งพืชอาหารสำคัญ ของนกยูงไทย รวมทั้ง การจัดแสดงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และพืช เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าศึกษาได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเพื่อปลูกฝังความรู้และความเข้าใจทางชีววิทยาและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้กับยุวชน เยาวชน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ผ่านเรื่องราวของ “นกยูงไทยแห่งล้านนาตะวันออก”
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ได้จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวชีววิทยาของนกยูงไทย (Green peafowl : Pavo muticus) และผองเพื่อน ซึ่งหมายถึงนกที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน (Phasianidae) เช่น นกยูงอินเดีย ไก่งวง ไก่ป่า ไก่ฟ้า และนกกระทา โดยจัดวางตัวอย่างสตัฟฟ์ของนกยูงและผองเพื่อนให้เข้าชมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้นกที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น นกกระทาและไก่งวงเป็นสื่อเชื่อมโยงถึงนกยูงไทย และขณะเดียวกันความสวยงามและโดดเด่นน่าประทับใจของนกยูงไทยก็จะจุดประกายให้ผู้คนหันมาสนใจนกและไก่ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันไปด้วย เช่น ไก่ป่าและไก่ฟ้า ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่งในผืนป่าของไทย พร้อมทั้งเจาะลึกรายละเอียดของขนประเภทต่าง ๆ ของนกยูงไทยผ่านกล้องจุลทรรศน์ ตัวอย่างจริงของอวัยวะภายในโครงกระดูกของนกยูงไทย และหัวกะโหลกของนกประเภทต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างสอดคล้องกับพฤติกรรม การกินอาหารของนกแต่ละชนิด มีการนำเสนอไข่นกยูงไทยและผองเพื่อน รวมทั้งนวัตกรรมอุปกรณ์ การตรวจสอบเอ็มบริโอและคุณภาพของไข่ (UP Bio Egg Candler) ตลอดจนมีการกะเทาะเปลือกไข่นกยูง เพื่อนำระยะตัวอ่อน (Embryo) ของนกยูงมาให้ศึกษาอย่างชัดเจน
มีการจำลองรอยเท้านกยูงจากแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติ ตลอดจนติดตามการดำรงชีวิตของนกยูงผ่านข้อมูลการวิจัยสำรวจแหล่งพืชอาหารสำคัญของนกยูงไทย จนพบว่าพืชที่นกยูงกินมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ลูกเดือย ไผ่ และพืชวงศ์หญ้าอื่น ๆ มะเดื่อ ลูกใต้ใบ เมล็ดพืชวงศ์ถั่ว เมล็ดทานตะวัน ไม้ล้มลุก เช่น อังกาบ บัวบก ผักปลาบ ผลของตะขบป่า ตะขบฝรั่ง ไทร มะขามป้อม ชมพู่ กระทกรก และพืชวงศ์แตง เป็นต้น นกยูงเป็นสัตว์ที่กินง่ายนอกจากกินพืชแล้วยังได้แหล่งโปรตีนและไขมันจากการกินสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ ตะขาบ กิ้งกือ ไส้เดือนดิน หอยทาก ทากเปลือย กบ เขียดขนาดเล็ก ฯลฯ
นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์ ทั้งในรูปแบบ ตัวอย่างอบแห้ง และตัวอย่างดองมาจัดแสดง เพื่อการขยายฐานความรู้ด้านพืชและสัตว์ให้แก่ผู้เข้าชม และนำไปสู่การตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนหรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ทุกวันศุกร์ เวลา 9.00-12.00 น. ฟรี!ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามรายละเอียดล่วงหน้าได้ โดยตรงที่ : คุณภาวิณี ทองคำ (092-257-1636, pawinee.th@up.ac.th) โทรศัพท์ 054-466-666 ต่อ 1774 หรือ 1713