มหาวิทยาลัยพะเยาร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จัดทำหนังสือฐานที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแหล่งที่มีนกยูงไทยหรือนกยูงเขียวหนาแน่นที่สุด ผ่านมิติของความเป็นสัตว์ป่าด้วยภาพถ่ายนกยูงไทยในธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดจากสมิทธิ์ สุติบุตร์ ช่างภาพสัตว์ป่าผู้รักนกยูงที่เก็บรวบรวมภาพนกยูงในธรรมชาติมาอย่างยาวนาน มิติด้านความสัมพันธ์กับมนุษย์ มิติของการอนุรักษ์นกยูงและธรรมชาติจากนักอนุรักษ์ตัวจริงในพื้นที่และดารานักอนุรักษ์ตัวจริงทั้งโน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ และอเล็กซ์ เรนเดล โดยจัดทำเป็นหนังสือสาม ภาษา ไทย จีน อังกฤษ ซึ่งผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักกับนกยูงไทยก่อนเทศกาลนับนกยูง ที่อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยามุ่งเน้นในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน การจัดทำหนังสือเล่มนี้มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 ที่ประกอบไปด้วยจังหวัดพะเยา เชียงราย แพร่ น่าน มหาวิทยาลัยฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน เล็งเห็นว่า ความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากนกยูงออกจากป่ามากินพืชผลทางการเกษตรมีมากขึ้น เนื่องจากการขยายพันธุ์ของนกยูงไทยมีอัตราที่รวดเร็วจนทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายจากฝูงนกยูงเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี แต่ในขณะเดียวกันนกยูงไทยหรือนกยูงเขียวก็เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทยและนานาชาติ มหาวิทยาลัยฯ ตระหนักดีว่าเราจะต้องใช้องค์ความรู้และบุคลากรที่เรามีเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน การจัดทำหนังสือเล่มนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในสถานภาพของนกยูงไทยในหลากหลายมิติ และจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากความรู้ ความเข้าใจที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ภาพประกอบในหนังสือยังเป็นภาพนกยูงในธรรมชาติที่สวยงามจากช่างภาพมืออาชีพที่ทุ่มเทในการเก็บภาพนกยูงมาเป็นระยะเวลานาน ภาพต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการรวบรวมความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของภาคส่วนต่างๆ เพื่อที่จะทำให้คนกับนกยูงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี ผู้รับผิดชอบโครงการพะเยาเมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก ได้เปิดเผยว่า “หนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความเข้าใจถึงความสำคัญของนกยูงไทย และความเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรม กับการค้าในระดับนานาชาติได้ เพราะประเทศในทวีปเอเชียต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับนกยูงที่คล้ายคลึงกัน ความเชื่อ และการอนุรักษ์ จึงจะดำเนินไปควบคู่กัน นอกจากหนังสือฐานที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทยเล่มนี้แล้ว โครงการเรายังทำงานในทุกมิติทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อทำให้คนในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนกยูงสามารถอยู่ร่วมกับนกยูงไทยอย่างสันติและยั่งยืน ดังนั้น เราจึงจะพยายามทำให้นกยูงซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรในท้องถิ่นนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลายหน่วยงานก็ได้มีความร่วมมือกันบูรณาการงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงที่สุด ซึ่งโครงการฯ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรารู้จักและเข้าใจนกยูงไทยในมิติต่างๆ จากหนังสือเล่มนี้แล้วจะทำให้ในเทศกาลนับนกยูงที่จะเกิดขึ้นช่วงพฤศจิกายนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวมาชมนกยูงในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นและชุมชนก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย”
หนังสือฐานที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทยจัดทำเป็น 2 รูปแบบคือ จัดพิมพ์เป็นจำนวน1,000 เล่ม และฉบับมัลติมีเดียบุ๊คที่จะประกอบไปด้วยเนื้อหา ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวของนกยูงตามธรรมชาติ ผ่านเว็บไซต์ www.gpeafowlbook.up.ac.th หรือสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ ซึ่งในเว็บไซต์ยังสามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบของไฟล์ PDF ได้ฟรีอีกด้วย