มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ(MOU) ว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา”
วันที่ 1 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ท่านกมล เชียงวงศ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นายสมบัติ ชินสุขเสริม ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ(MOU) ว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา” โดยมี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา คณะผู้บริหารจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมในพิธีลงนาม ซึ่งจัดโดย สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี งานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดพะเยา รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรายย่อยในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ชั้น 2 ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นได้ร่วมปลูกต้นมะขามยักษ์ ณ ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงการเกษตรและความอยู่รอดของมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร และพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา”ในวันนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงาน ด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านกระบวนการส่งเสริมบุคลากร และการนำองค์ความรู้ที่สามารถแก้ปัญหา และสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้ในหลากหลายมิติ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการยกระดับ ด้านเกษตรกรรม ขอบคุณสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่เล็งเห็นศักยภาพของจังหวัดพะเยาและมหาวิทยาลัยพะเยา รวมทั้งให้การสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ ตามปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ได้อย่างเป็นรูปธรรม