กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดงานการประชุม “การชี้แจงแนวปฏิบัติในการรับทุน(Orientation) สำหรับผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ประจำปี 2567” ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 09.30 - 16.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและให้ความเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทุนวิจัยของบพค.จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมของประเทศ ในงานนี้ยังมีการบรรยายในประเด็นที่สำคัญ คือ “แนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บพค.” โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ และ “แนวคิดและเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรวิจัยทักษะสูงภายใต้แผนงานธัชวิทย์ (Thailand Academy of Science: TAS) และแผนงานการพัฒนานักวิจัยสมรรถนะสูงในระดับหลังปริญญาโท หลังปริญญาเอก เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (PMU-B fellowship and frontier research for future industry)” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผู้ก่อตั้ง TAS
ศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดย ผศ.ดร.ดำรงค์ อมรเดชาพล หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนากําลังคนสมรรถนะสูงทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบรางเพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคของประเทศไทยภายใต้โปรแกรมธัชวิทย์” ได้เข้าร่วมงานงานประชุมดังกล่าวนี้พร้อมกับคณาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบราง โดยมีนิสิตที่ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกในโปรแกรมธัชวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 6 ท่าน ซึ่งมาจากกลุ่มบริษัทที่ปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเครือข่ายระบบรางของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมทั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ด้วย