จิ้งหรีดอาหารอนาคตของโลก
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอาจสูงถึง 11,200 ล้านคนในปี ค.ศ. 2100 เมื่อประชากรโลกมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ดังนั้นจึงต้องแสวงหาแหล่งอาหารโปรตีนทดแทนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แมลงกินได้ คือ เสบียงอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น เหตุผลเพราะว่าแมลงหลาย ชนิดอย่าง อาทิเช่น จิ้งหรีดนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพาะเลี้ยงได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีอัตราการแลกเนื้อที่สูง สิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรน้อยกว่าปศุสัตว์ทั่วไป ทำให้ลดก๊าชเรือนกระจก และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะสมสำหรับการเป็นอาหารแห่งอนาคต อีกทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้การยอมรับอย่างเป็นทางการด้วยเอกสารที่ชื่อว่า Edible insects : Future prospects for food and feed security (แมลงที่รับประทานได้-ลู่ทางความหวังแห่งอนาคตสำหรับความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์) และสหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วย Novel Food หรือ สถานะอาหารใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการด้านนวัตกรรมและ เทคโนโลยีของอาหารปัจจุบัน
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งอาหารที่ทำจากแมลง มีแมลงที่รับประทานได้เกินกว่า 300 สายพันธุ์ทั้งยังมีแหล่งผลิตและจำหน่ายแมลงเพื่อการบริโภคอยู่แล้ว รวมถึงปัจจุบันประเทศไทย มีโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารหรือ “Food Innopolis” เพื่อเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาการถนอมและแปรรูปอาหาร จิ้งหรีดอบมีโปรตีนประมาณ 50-55 กรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ทั่วไป เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่มีปริมาณอยู่ประมาณ 20-30 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัมเท่านั้น
การแปรรูปจิ้งหรีด เช่น จิ้งหรีดอบกรอบจากผลงานของผู้เขียนเอง คือ สะดิ้งอบกรอบ (UP product) พบว่าสะดิ้งอบกรอบยังมีจุดอ่อนคือ มีความหืนหากเก็บไว้นานจึงเป็นเหตุผลว่าต้องแปรรูปให้มีความชื้นลดลงให้ได้มากที่สุดดังนั้นการแปรรูปด้วยการบดให้เป็นผงจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โปรตีนจิ้งหรีดผงสำหรับเติมในอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น โรยผสมกับโจ๊ก ข้าว หรือขนมจีน เพื่อเพิ่มโปรตีน ใช้ทำข้าวเกรียบจิ้งหรีด คุกกี้จิ้งหรีด เส้นสปาเก็ตตี้จิ้งหรีด เส้นขนมจีนจิ้งหรีด บะหมี่จิ้งหรีด น้ำพริกตาแดงจิ้งหรีด และไส้กรอกจิ้งหรีด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปจากผงโปรตีนจิ้งหรีดเหมาะสำหรับบุคคลที่รักสุขภาพ มีความต้องการโปรตีนในปริมาณสูง เพื่อจุดประสงค์เฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุที่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ยาก นักกีฬาที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ บุคคลที่ต้องการลดน้ำหนักในรูปแบบการลดคาร์บเพิ่มโปรตีนสูง (Low carb high protein)
ปัจจุบันผู้เขียนได้งบประมาณจาก สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา (UPITI) พัฒนาฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดให้มีคุณภาพสูง ร่วมกับบริษัท รวิศฟาร์มอินเตอร์ฟู๊ด ซึ่งมีที่ตั้งที่ ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ในการสร้างศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแบบครบวงจรเพื่อรองรับการเข้ามาศึกษาเรียนรู้และวิธีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างถูกวิธี โดยที่นี้ประกอบไปด้วยศูนย์เรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มมูลค่า และต้นแบบฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง (Vertical Insect Farming) ที่มีระบบการควบคุมในรูปแบบอัตโนมัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัยในสถาบันการศึกษา และกลุ่มผู้ที่สนใจทั่วไป
ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านลองคิดดูว่าหากวันหนึ่งเราตกอยู่ในภาวะสงคราม โรคระบาดรุนแรง หรือเกิดภัยพิบัติจนเราต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด เราจะหาแหล่งโปรตีนที่ดีมาจากที่ไหนหากไม่ใช่จากแมลง หรือจิ้งหรีด ที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก ระยะเวลาเลี้ยงไม่นาน ให้อาหารและน้ำน้อย และลดปัญหาการเกิดก๊าชเรือนกระจกได้อีกด้วย
สุดท้ายนี้ ขอฝากเปิดใจให้ “น้องจิ้งหรีด” สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับทุกคนและเป็นอาหารแห่งอนาคต ไว้กับทุกท่านด้วยนะครับ
ดร.วิทวัส สัจจาพงศ์
หลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์