เช้าวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร เข้าพบปะคณบดีและบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้กิจกรรม“สภากาแฟสัญจร” โดยวันนี้ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ พร้อมด้วยบุคลากรในคณะเป็นเจ้าภาพจัดสภากาแฟสัญจร ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และเพื่อรายงานการดำเนินงานที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายทิศทางการดำเนินงานในอนาคต พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ณ ห้องประชุม คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ นำเสนอการดำเนินงานของคณะ โดยเริ่มจาก โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม หรือ 1 คณะ 1 สัที่ทางคณะได้ดำเนินการและประสบผลสำเร็จอย่างโดดเด่น เป็นผลงานการบริการชุมชนที่มีงานวิจัยรองรับ ได้รับรางวัล Gold Award 3 ซ้อน จากการให้บริการชุมชนในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา อาทิ น้ำมันงาม้อน น้ำมันกระเทียมสกัดเย็น B9 ทางคณะมีเป้าหมายขยายชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ ให้แก่ชุมชน คือ สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ เพิ่มภูมิคุ้มกัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากใบมะขามเปรี้ยวด้วยนวัตกรรมไมเซลล่าร์ชีวภาพ สู่กลุ่มเกษตรกรชุมชนพระธาตุขิงแกง เมล็ดกาแฟตกเกรดกับงานวิจัยการลดไขมันพอกตับ สารสกัดผักแพวกับการลดอาการคลื่นไส้ น้ำมันหอมระเหยจากดอกบัวหลวงป้องกันการบาดเจ็บและการตายของเซลล์ประสาทจากโรคลมซัก และงานวิจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ เป็นต้น
ผลงานจากการบริการวิชาการ ในอนาคตสามารถแปลงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์คืนสู่ชุมชนได้ เช่น น้ำมันกระเทียมสกัดเย็นดอกคำใต้ น้ำมันงาม้อน ผลิตภัณฑ์สะดิ้งอบกรอบ น้ำจิ้มสุกี้โปรไบโอติค สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่แม่ใจเพิ่มภูมิคุ้มกัน ผลิตภัณฑ์จากชันโรง มาสก์พอกหน้าจากผลิตภัณฑ์ผึ้งโพรง ผลิตภัณฑ์จากบัวหลวง ฯลฯ โดยร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำเสนอต่อว่า ทางคณะมีโครงการวิจัยในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพประชาชนชาวเขาประเทศไทย (ระยะที่ 2) เป็นการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือประเมินและส่งเสริมภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็กชาวเขาอายุต่ำกว่า 6 ปี ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยได้มีการลงพื้นที่พัฒนาทักษะการสื่อสารกับ อสม. เพื่อใช้ภาษาท้องถิ่นในการให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กชาวเขา ถือเป็นโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความร่วมมือกับหลายสถาบัน เช่น กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดยคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ และคณะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกคณะในมหาวิทยาลัยพะเยา ทำหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ในพื้นที่ดำเนินงาน ณ ต.แม่ใส อ.เมือง จ. พะเยา ร่วมมือทางวิชาการและการประกันคุณภาพการศึกษากับมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมถึง MOU กับ Food House Catering Services ร่วมจัดทำหลักสูตรนักกำหนดอาหาร เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่ โรงพยาบาลในเครือข่าย โรงพยาบาลกรุงเทพ ทั่วประเทศ
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีแผนการดำเนินงานร่วมกับกับคณะทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจัดตั้งหน่วยวิจัยสเต็มเซลล์ เซลล์บำบัด และยีนบำบัด จากสิ่งส่งตรวจเซลล์น้ำคร่ำ ดำเนินงานในสถาบันนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท Medeze Group และ StemCell 21 จัดตั้งหน่วยรับตรวจวิเคราะห์โครโมโซม Non-invasive Prenatal diagnosis (NIPT) ดำเนินงานในสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกับ Molecular DX Company Ltd. เพื่อตรวจวิเคราะห์โครโมโซมจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นเลือด และตรวจวิเคราะห์โครโมโซมจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นเซลล์น้ำคร่ำ (Cell-free fetal DNA) นอกจากนั้น คณะมีแผนเปิดคอร์สการอบรม Non-degree เรื่อง พิษวิทยาและความปลอดภัยทางอาหาร อยู่ในระหว่างการเสนอเปิดและปรับแก้ตามความเห็นของกรรมการวิชาการ คาดว่าสามารถเปิดรับรุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2567
จากนั้น อธิการบดีพร้อมด้วยผู้บริหารได้แลกเปลี่ยนเสนอแนะการดำเนินงานด้านวิชาการ อาทิ การนำเสนอผลงานสู่ระดับสากล โดยเพิ่มช่องการการสื่อสารและสร้างการรับรู้ การสหกิจต่างประเทศ รวมถึงแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ ภายในและรอบคณะภายใต้นโยบาย GREEN OFFICE