อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมคณะผู้บริหาร และคณะ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ต้อนรับ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงชินโครตรอน (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธณ์ ในโอกาส ร่วมประชุม หารือแนวทางความร่วมมือทางด้านวิจัยและวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยแสงชินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยพะเยา โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่าง วันที่ 6-7 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมบวร รัตนประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการต่อยอดจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นแนวทางการต่อยอดการทำงานร่วมกันพัฒนาบุคลากรในกลุ่มสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งประกอบไปด้วย คณะสหเวชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความร่วมมือทางวิจัยและวิชาการ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อสร้างเครือข่ายงานวิจัยผ่านการแบ่งปันประสบการณ์การทำวิจัยและเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยพะเยา สามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่มีสมรรถนะพิเศษ แตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่น รวมไปถึงการพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพทัดเทียมในระดับนานาชาติได้
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุม หารือ แนวทางความร่วมมือทางด้านวิจัยและวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยพะเยาในวันนี้ จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยพะเยา โดยอาศัยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นฐานเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนากำลังคน ทั้งนิสิตและนักวิจัยของมหาวิทยาลัย การพัฒนาโจทย์วิจัยที่มีศักยภาพในการตีพิมพ์วารสารระดับสูงแล้วขยายไปสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการใหม่ ๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง ในกลุ่มสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยพะเยา ตามกรอบความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยาและ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ต่อไป
จากนั้น อธิการบดีพร้อมด้วยผู้บริหาร ได้นำทีมผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงชินโครตรอน (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยพะเยา ไหว้สักการะพระพุทธภุชคารักษ์ พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยพะเยา และลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของ คณะเภสัชศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี