วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์น้ำเงิน จันทรมณี รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา มอบหมายให้ ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ นายนริศ ศรีสว่าง หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรมล้านนา และนางสาวณัฐชา กิจจา เจ้าหน้าที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์นกยูงไทย ลงพื้นที่ประชุมหารือกับผู้นำชุมชนเกี่ยวกับสถานที่ในการจัดกิจกรรมรำแพน lake camp ในพื้นที่ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และลงพื้นที่สำรวจ ศึกษานกยูงไทยที่อยู่ในพื้นที่ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย รวมทั้ง หารือ แนวทางในการอนุรักษ์นกยูงไทย การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ เพื่อเป็นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
จากการลงพื้นที่ฯ ในตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา หนึ่งในเครือข่ายชุมชนรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรม รำแพน lake camp ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ณ อ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการเปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศในช่วงฤดูหนาว พร้อมกับชมนกยูงไทย ซึ่งเป็นช่วงที่นกยูงไทยจะมีการรำแพนหาคู่อีกด้วย นอกจากนั้น ได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมภายในวัดพระธาตุสามดวง ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่กับหมู่บ้านดงเคียนและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านดงเคียนและหมู่บ้านใกล้เคียง
หลังจากนั้น ลงพื้นที่เพื่อสำรวจ ศึกษานกยูงไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมหารือร่วมกับ ปลัดอาวุโสอำเภอเวียงชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา ผู้นำในท้องถิ่น ท้องที่ จากการประชุมได้ข้อมูลว่ามีการกระจายตัวของนกยูงไทยในพื้นที่ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย กว่า 10 หมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ห้วยดงต่อ และห้วยถ้ำ จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอนศิลา และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน
มีการพบร่องรอยของนกยูงไทย ข่วงนกยูง ในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน อาทิ สวนข้าวโพด แปลงนาข้าว สวนลำไย โดยเฉพาะในช่วงเช้า และช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกยูงไทยจะลงมาหาแหล่งอาหาร
ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ได้ให้แนวทางในการอนุรักษ์นกยูงไทย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ของเครือข่ายชุมชนรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์ ซึ่งมีกว่า 30 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ในการเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากการประชุมแล้วเสร็จได้มีการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
พาดหัว/ภาพปก/ตรวจสอบ/เพิ่มข่าวสาร : ฐานนันท์นาฎ หาญเลิศ