สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา วนอุทยานร่องคำหลวง มูลนิธิไร่เชิญตะวัน และเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์ จัดโครงการ "การขับเคลื่อนพลังชุมชนรักษ์ป่า รักษ์นกยูงไทย" งาน "พลังชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำสู่สายธารกว๊านพะเยา" โดยได้มอบธงสัญลักษณ์ "เครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์” ให้กับเครือข่ายฯ ณ วนอุทยานร่องคำหลวง หมู่ที่ 2 บ้านโซ้ ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยพะเยา ดร.ชัชวาล วงค์ชัย กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงพลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของพวกเรา จากสถานการณ์หมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ที่พื้นที่ป่าอีกด้วย การที่พระคุณท่านได้เมตตารับเป็นธุระในการอนุรักษ์ผืนป่า และนกยูงไทยของพวกเราชาวแม่กา แม่นาเรือ และจังหวัดพะเยา ในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่พวกเราจะใช้ผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำ แหล่งชีวิตของคนและสัตว์ป่า สำหรับนกยูงถือว่าเป็นตัวแทนของสัตว์ป่าในแถบนี้ที่พวกเราพบเห็นและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย ดังนั้นเราต้องดูแลผืนป่า เพื่อให้คงอยู่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำและบ้านของพวกเราต่อไป
มหาวิทยาลัยพะเยา มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม นกยูงไทยในพื้นที่แม่กา แม่นาเรือแห่งนี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ คงอยู่คู่กับพวกเราสู่รุ่นลูกหลานสืบไป โดยขณะนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา มีโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์นกยูงไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์และการเรียนรู้นกยูงไทยอย่างครบวงจร โดยที่มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมต้นแบบ ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับนกยูงไทยอย่างครบวงจร และคนกับนกยูงไทย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไปพร้อมกัน