ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดจัดการประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ 11 ในระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2565 โดยกำหนดให้มีพิธีเปิดโครงการในวันที่ 27 มกราคม 2565 ณ ห้อง UB002 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) โดยมีการมอบรางวัลโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ประจำปี 2564
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คว้าโล่ระดับเหรียญทอง 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม จากโครงการงาม้อนเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุสู่ชุมชนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Nga-mon for Health of elderly people to community innovations and sustainable development ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
โดยโครงการมีแนวคิดว่า: ปัญหาของทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยคือประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) และพบว่าปัญหาสุขภาพหลักที่น่าเป็นห่วงในผู้สูงอายุนอกจากโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันและความดันแล้วยังมีโรคหรือภาวะที่น่าเป็นห่วงอีกคือเกิดภาวะความจำเสื่อม (dementia) และโรคอัลไซเมอร์ (alzheimer’s disease) ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของเซลล์ประสาท (neurodegenerative disorder) พบได้ประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อม ทั้งหมด ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อาการคือมีการเรียนรู้ การคิด และความจำ (cognitive function) ลดลงอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากถึง 32% ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิภาวะโรคดังกล่าวได้และคาดว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือผู้ที่มีภาวะพร่องการเรียนรู้และความจำในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคน และที่สำคัญผลกระทบของโรคกลุ่มดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษาและดูแลผู้ป่วย 1 คน คิดเป็นเงินประมาณ 600,000 -8,000,000 บาทต่อปี อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ดูแลที่ต้องรับภาระ ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้าได้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งงาม้อนเป็นพื้นพื้นบ้านเฉพาะถิ่น ปลูกมากในภาคเหนือตอนบนของประเทศรวมทั้งจังหวัดพะเยา น้ำมันงาม้อนมีกรดไขมันโอเมก้า-3 (omega-3 fatty acid) หรือ a-linolenic acid สูงและมีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง หลอดเหลือหัวใจอุดตัน ภาวะพร่องการเรียนรู้และความจำและอัลไซเมอร์เป็นต้น
ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง 1. คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา 2. กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา 3. โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา และ 4. วิสาหกิจชุมชนสันโค้ง สู่การวิจัยและสร้างนวัตกรรมงาม้อนเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุสู่ชุมชนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาและการพึ่งพาตนเองบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถเข้าสู่กระบวนการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตต่อไปได้