วันนี้ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ ๑๐ “University Impact Rankings" โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวรายงาน ณ อาคาร ๙๙ ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญโญฺ) มหาวิทยาลัยพะเยา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “การจัดการประชุมวิชาการพะเยาวิจัยในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา นับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย นิสิต และนักศึกษา จากหลายสถาบัน ได้มานำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งผลงานเหล่านั้นจะนำไปสู่การสืบสานปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และการพัฒนาประเทศสู่ระดับสากล อย่างไรก็ตามแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของโรค Covid – 19 ที่ส่งผลกระทบให้การจัดต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ การนำเสนอผลงานวิจัย ให้เป็นแบบออนไลน์ และทำให้กิจกรรมบางอย่างถูกลดทอนไปบ้าง
แต่ทั้งนี้ยังคงให้ความสำคัญในการเปิดเวที การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ ๑๐ ให้เกิดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “University Impact Rankings” ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบ และความยั่งยืนให้เกิดขึ้นต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ๑๗ เป้าหมาย ของสหประชาชาติต่อไป"
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดการประชุมวิชาการพะเยาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีเป้าหมายสูงสุดคือการนำไปใช้ประโยชน์ในทางสังคม สิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศ ซึ่งจะนำความรู้ และประสบการณ์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปช่วยส่งเสริมพัฒนาผลงาน สู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคม เพื่อความยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป”
ในงานดังกล่าวได้มีการมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานการตีพิมพ์สูงสุดในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งพิจารณาจากผลงานตีพิมพ์ในวารสารในฐานข้อมูล Scopus และ TCI งานสร้างสรรค์ที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับภูมิภาคอาเซียน/นานาชาติ โดยมีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น ๑๕ ท่าน ดังนี้
ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- ๑. รศ.ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ๒. ผศ.ดร.เกษแก้ว เสียงเพราะ คณะแพทยศาสตร์
- ๓. รศ.ดร.สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณะเภสัชศาสตร์
- ๔. ดร.อัจฉราภรณ์ อ่อนตะวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ๕. ดร.นิจติยา สุวรรณสม คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ๑. รศ.ดร.ประสิทธิ์ ช่อลำเจียก คณะวิทยาศาสตร์
- ๒. ผศ.ดร.อัยเรศ เอี่ยมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์
- ๓. ดร.ปรัชญา นวนแก้ว คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ๔. ผศ.ดร.สาคร เมฆรักษาวนิช คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ๕. นายณัฐวุฒิ พลอาสา คณะวิทยาศาสตร์
ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- ๑. ดร.ศานิตย์ ศรีคุณ วิทยาลัยการศึกษา
- ๒. ผศ.ดร.สุริยา ส้มจันทร์ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์
- ๓. ดร.นิรมล พรมนิล คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์
- ๔. ดร.ธีรุตม์ หมื่นวงษ์เทพ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์
- ๕. ผศ.ดร.ลือชา ลดาชาติ วิทยาลัยการศึกษา
และในงานเดียวกันนี้ได้มีการมอบรางวัล โครงการ ๑ คณะ ๑ ชุมชนนวัตกรรม โดยแบ่งรางวัลเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ระดับเหรียญทอง ระดับเหรียญเงิน และระดับเหรียญทองแดง โดยมีคณะที่ได้รับรางวัล ดังนี้
ระดับเหรียญทอง ได้แก่
- ๑. คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
- ๒. คณะวิศวกรรมศาสตร์
- ๓. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
- ๔. คณะวิทยาศาสตร์
- ๕. คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ
- ๖. คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์
ระดับเหรียญเงิน ได้แก่
- ๑. คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม
- ๒. คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ๓. คณะศิลปศาสตร์
- ๔. คณะนิติศาสตร์
- ๕. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ๖. คณะสหเวชศาสตร์
- ๗. วิทยาลัยการศึกษา
ระดับเหรียญทองแดง ได้แก่
- ๑. คณะเภสัชศาสตร์
- ๒. คณะแพทยศาสตร์
- ๓. วิทยาลัยการจัดการ
- ๔. คณะพยาบาลศาสตร์
สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ ๑๐ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “University Impact Rankings” เป็นการจัดในรูปแบบ Online Conference เป็นครั้งแรก โดยได้เริ่มการนำเสนอผลงานวิจัยระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ มีผลงานวิจัยจากนักวิจัยทั่วประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานทั้งสิ้น ๔๓๓ ผลงาน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยากล่าวว่า "เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีทางวิชาการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายระดับชาติ ในการพัฒนาศักยภาพของสถาบันการศึกษาไทย โดยการสนับสนุนการเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ๑๗ เป้าหมาย ซึ่งเป็นการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยไปสู่การจัดอันดับใน THE Impact Rankings"