
“ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”
ที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทย GREEN PEAFOWL นกยูงเขียวเป็นนกในตระกูลไก่ฟ้าที่มีความสวยงาม มีคุณค่าและเป็นนกยูงที่หายากชนิดหนึ่งของโลก ปัจจุบันพบว่าประชากรนกยูงถูกคุกคามในหลายพื้นที่จากการสูญเสียที่อยู่อาศัย รวมถึงการแยกออกเป็นหย่อมขนาดเล็ก รวมทั้งการถูกล่าเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่นเป็นสัตว์เลี้ยง อาหาร และนำขนไปใช้เป็นเครื่องประดับ ทำให้ประชากรของนกยูงมีการลดลงอย่างรวดเร็ว และศูนย์พันธุ์ไปจากแหล่งกระจายดั้งเดิม
เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับจังหวัดพะเยา ปัจจุบันพบประชากรนกยูงเขียวจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง และ วนอุทยานร่องคำหลวง จังหวัดพะเยา ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะสังเกตุเห็นนกยูงจำนวนมากลงมาหาอาหารยังพื้นที่เกษตรกรของชุมชนโดยรอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ จนถึงช่วงเดือนมีนาคมนกยูงก็จะกลับคืนสู่ป่า ตามวิถีของประชากรนกยูง
ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย (Green Peafowl learning Center) จากนกยูงสู่นิทรรศการนกยูงไทย การอนุรักษ์สู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพะเยา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย (Green Peafowl learning Center) เพื่อเป็นแหล่งพื้นที่ศึกษาอนุรักษ์นกยูงไทย รวมถึงเป็นพื้นที่ศึกษาและส่งเสริมงานวิจัย ตลอดจนบริการวิชาการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และงานประชุมวิชาเพื่อผลักดันต้นแบบการอนุรักษ์นกยูงไทยสู่ระดับโลก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ให้การต้อนรับ ผู้ตรวจการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการฯ พร้อมคณะ ในการติดตามโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเศรษฐกิจฐานรากในภาคเหนือ “เมืองนกยูงไทย” โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย (Green Peafowl learning Center) และลงพื้นที่สำรวจบริเวณวนอุทยานร่องคำหลวง ในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เมืองนกยูงไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ให้นโยบายในการจัดตั้งศูนย์นกยูงขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กับปณิธานมหาวิทยาลัยพะเยา “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” โดยขับเคลื่อนฟันเฟืองภาระกิจหลักทั้ง 4 ด้าน เริ่มจาก ด้านที่ 1 การอนุรักษ์นกยูงและอนุรักษ์ป่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยพะเยาพร้อมเป็นพื้นที่ในการศึกษาอนุรักษ์นกยูงไทย พร้อมกับสร้างการรับรู้โดยบูรณาการร่วมกับนักวิจัย ชุมชน ร่วมถึงภาคีเครือข่ายในการรณรงค์และตระหนักเรื่องของผืนป่าเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกยูง และ จัดให้เป็นที่ปลูกพืชอาหารสำหรับนกยูงโดยเฉพาะบริเวณ
วนอุทยานร่องคำหลวง ตลอดแนวเขาบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา ด้านที่ 2 เสริมสร้างเครือข่ายรักษ์นกยูงไทย โดยเสริมสร้างเครือข่ายรักษ์นกยูงไทยและสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมในการอนุรักษ์กับโรงเรียน ชุมชน จังหวัด ทั้งในภูมิภาคและนานาชาติ ด้านที่ 3 บูรณาการเรียนการสอนกับการอนุรักษ์นกยูง จัดให้มีการผนวกเรื่องชีวิตนกยูงและการอนุรักษ์นกยูงกับการเรียนการสอนทั้งในมหาวิทยาลัย โดยมอบหมายให้แต่ละคณะสาขาวิชา นำศาสตร์ในองค์กรมาบูรณาการและพัฒนาในเรื่องของการอนุรักษ์นกยูงไว้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยาสร้างกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกยูง เช่น ให้เชื่อมโยงเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ให้เด็กนักเรียน ได้เป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านกระบวนการลงพื้นที่ แหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงจริง และสร้างโจทย์ประเด็นสำคัญในการศึกษาเรื่องการอนุรักษ์นกยูงไทยเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษา และบูรณาการร่วมกับโครงการมหาวิทยาลัยเด็กอีกด้วย ด้านที่ 4 ส่งเสริมการวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์นกยูง มหาวิทยาลัยพะเยานำนักวิจัยทำงานร่วมกับชุมชนในการศึกษาวิจัย สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับนกยูงในจังหวัดพะเยา และการต่อยอดสู่เชิงพาณิช ให้มหาวิทยาลัยพะเยา และจังหวัดพะเยา เป็นเมืองท่องเที่ยวนกยูงไทยในอนาคตต่อไป
หลังจากนี้ทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันทำงานในการอนุรักษ์นกยูงไทย คงต้องร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์นกยูงไทยให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะยกระดับ ให้เกิดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเศรษฐกิจฐานรากในภาคเหนือ “เมืองนกยูงไทย”แล้ว การสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกยูงไทยให้เกิดความยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือกันพัฒนาต่อไปให้ดีอีกยิ่งขึ้น